ทุกวันนี้นอกจากจะต้องคอยระวังแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินแล้ว ยังมีแก๊งเงินกู้ออนไลน์ที่จะต้องระวังเป็นพิเศษด้วย เพราะในสถานการณ์ที่หลายคนเงินช็อต เงินไม่พอใช้ อาจทำให้ไม่ทันได้ฉุกคิดพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจกู้เงินผ่านแอพ บอกได้เลยขั้นตอนหรือวิธีการต่าง ๆ ว่าแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นแอปเงินกู้เถื่อนโดยมิจฉาชีพ ซึ่งวันนี้เราจะมาแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เคยกู้เงินผ่านแอพเงินกู้นอกระบบว่าเป็นอย่างไร และทางออกของปัญหานี้จะต้องทำอย่างไรให้ผ่านไปอย่างราบรื่น
สำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast เงินติดล้อมีช่องทางให้คุณได้ติดตามความรู้เกี่ยวกับการเงินสนุกสุดเพลิดเพลินแล้ว โดยใน EP.22 เตือนภัย! กลโกงกู้เงินเถื่อน ให้เงินไม่ครบ ข่มขู่ บีบให้คืนใน 7 วัน มีให้บริการทั้งใน Spotify และ Podbean
ผู้ดำเนินรายการ
คุณ ปรเมษ บุญเศรษฐ (ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้านการเงิน)
รู้ทันมิจฉาชีพ ก่อนตัดสินใจกู้เงินผ่านแอพออนไลน์
ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ถูกหลอกให้โอนเงินโดยแก๊งมิจฉาชีพสูงถึงวันละ 500 คน และมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยคนละเกือบ 2 แสนบาท โดยมักจะใช้มุกเดิม ๆ อย่างเช่น โทรมาบอกให้โอนเงินให้โดยอ้างว่าเรามีพัสดุผิดกฎหมาย มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดต่าง ๆ ต้องโอนเงินไปให้ตำรวจตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ คนที่รู้สึกกลัวก็มักจะโอนเงินไปให้มิจฉาชีพในทันที
แต่ปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพมีกลยุทธ์ใหม่เพื่อหลอกคนร้อนเงินผ่านสิ่งที่เรียกว่า เงินกู้ออนไลน์ โดยการให้โหลดแอพหรือกดลิงก์ต่าง ๆ วันนี้เราจะมาแชร์ประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เคยกู้เงินผ่านแก๊งเงินกู้ออนไลน์ว่ามีลักษณะเด่น ๆ อย่างไรบ้าง?
1. ช่องทางกู้เงินออนไลน์ดูเหมือนน่าเชื่อถือ
จากประสบการณ์ตรงของผู้เสียหายท่านนี้ที่เคยกู้เงินออนไลน์กับแก๊งมิจฉาชีพ เห็นตามสื่อออนไลน์ที่เราทุกคนเล่นกันทุกวัน หรือการให้ดาวน์โหลดแอพเพื่อกู้เงินผ่านแอพง่าย ๆ ที่ Play Store และ App Store ซึ่งก็ดูเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือสำหรับหลายคน แม้ว่าช่องทางกู้เงินออนไลน์จะดูมีความน่าเชื่อถือ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแอพกู้เงินที่ถูกกฎหมายเสมอไป ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอีกนั่นก็คือ เงื่อนไขการกู้เงิน
2. ขั้นตอนการกู้เงินผ่านแอพง่าย ๆ
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นกู้ที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านลิงก์หรือแอพที่ดาวน์โหลดมา อีกทั้งยังมีขั้นตอนการยืนยันตัวตนหรือการทำ KYC (Know Your Customer) เช่น ให้ถ่ายบัตรประชาชน ซึ่งการทำ KYC ก็เป็นขั้นตอนที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อต่างใช้เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัย ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลต่าง ๆ จึงทำให้หลายคนไม่รู้สึกสงสัยเหมือนกับผู้เสียหายท่านนี้ จากนั้นจะใช้เวลาในการอนุมัติไม่เกิน 10 นาทีก็มีเงินโอนเข้ามาในบัญชีทันที
3. เงื่อนไขการกู้เงินผ่านแอพดูเหมือนปกติ
เงื่อนไขการกู้เงินผ่านแอพกับแก๊งมิจฉาชีพจะดูเหมือนปกติทุกอย่างก่อนตัดสินใจสมัคร ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนคืน และขั้นตอนการยื่นกู้ต่าง ๆ ยกเว้น จำนวนเงินกู้ โดยจำนวนเงินที่ขอกู้กับจำนวนเงินกู้ที่ได้รับจริง ๆ นั้นไม่เหมือนกัน ในกรณีของผู้เสียหายท่านนี้คือ ขอกู้เงิน 2,000 บาท แต่มีเงินโอนเข้ามาในบัญชีจริง ๆ เพียง 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแก๊งมิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียม 50% และที่พีคไปกว่านั้นคือ จะมีเงื่อนไขที่ซ่อนอยู่เป็นตัวหนังสือเล็ก ๆ บริเวณด้านล่างของสัญญาเงินกู้ว่า จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดซึ่งก็คือ 2,000 บาทคืนภายใน 6-7 วันด้วย
4. ดอกเบี้ยเงินกู้ดูเหมือนไม่ได้สูงมาก
อีกหนึ่งหลุมพรางที่สำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยชวนให้สมัครหรือตอนที่แก๊งมิจฉาชีพใช้ในการโฆษณา จะอยู่ในเรทที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรทดอกเบี้ยปกติหรืออยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ จากประสบการณ์ตรงของผู้เสียหายท่านนี้คือ ดอกเบี้ยก่อนตัดสินใจสมัครอยู่ที่ 2% เท่านั้น ระยะเวลาผ่อนคืนได้สูงสุด 3 เดือน หรือภายใน 90 วัน ซึ่งก็ดูไม่ได้เป็นการเอารัดเอาเปรียบอะไร ทำให้หลายคนที่เดือดร้อนเงินตัดสินใจสมัครทันที แต่หากอ่านเงื่อนไขในสัญญาให้ดี ๆ จากที่เราได้อธิบายไปข้างต้นจะพบว่ามีเงื่อนไขซ่อนอยู่เต็มไปหมดทั้งการหักค่าธรรมเนียม 50% และการต้องคืนเงินภายใน 6-7 วัน เมื่อเปรียบเทียบหรือคำนวณออกมาจริง ๆ แล้วไม่ต่างจากการกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเลยทีเดียว
หากไม่มีเงินจ่ายให้แก๊งเงินกู้ออนไลน์จะเป็นอย่างไร?
จากเงื่อนไขที่ซ่อนอยู่เป็นตัวหนังสือเล็ก ๆ บริเวณด้านล่างของสัญญาเงินกู้ว่า จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดคืนภายใน 6-7 วันนั้น หากไม่มีเงินจ่ายจะมีคนโทรมาทวงหนี้กับคุณโดยตรงทันที ซึ่งจะโทรอย่างน้อยวันละ 5 สายเป็นเวลาหลายอาทิตย์ติดต่อกัน และหากคุณยังไม่จ่ายเงินคืนอีก พวกเขาจะทำการไล่โทรหาญาติ พี่น้อง เพื่อน และคนรู้จักของคุณเช่นกัน โดยใช้คำพูดและประโยคในลักษณะของการประจานที่จะทำให้คุณรู้สึกอับอาย เช่นหนี้แล้วไม่ยอมใช้คืน ต่าง ๆ นานาติดต่อกันทุกวันจนกว่าเราจะคืนเงิน โดยแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินจะเข้าสู่ข้อมูลเหล่านั้นระหว่างขั้นตอนการสมัครผ่านแอพ ซึ่งจะมีข้อความเด้งแจ้งเตือนให้คุณยอมรับการเข้าถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ หรือรูปภาพภายในโทรศัพท์ของคุณนั่นเอง
โดนมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินต้องทำอย่างไร?
เมื่อสมัครไปแล้วจะยกเลิกสัญญาก็ไม่ได้ ไม่ต้องเครียดหรือตกใจไป ทุกปัญหามีทางออกเสมอเหมือนกับกรณีนี้ เมื่อรู้ตัวว่าโดนมิจฉาชีพหลอกให้กู้เงินขั้นตอนแรกให้แจ้งความกับตำรวจและหยุดชำระเงินทันที เนื่องจากดอกเบี้ยจากการกู้เงินผ่านแอพกับแก๊งมิจฉาชีพ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกฎหมายจะต้องไม่เกิน 15% ต่อปีเท่านั้น จากนั้นตำรวจจะแนะนำให้โทรไปที่สายด่วน 1599 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อดำเนินการสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะนั่นเอง
สรุป ก่อนตัดสินใจกู้เงินผ่านแอพออนไลน์
เราเข้าใจดีว่าหลายคนอาจต้องเผชิญกับช่วงที่เดือดร้อนเงิน หรืออยากจะยืมเงินฉุกเฉิน 5,000 ด่วนจนบางครั้งอาจไม่ทันได้ฉุกคิดหรือคิดน้อยเกินไป จนตัดสินใจกู้เงินผ่านแอพกับแก๊งมิจฉาชีพได้ เงินติดล้อขอแนะนำแหล่งกู้เงินที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และไม่มีการโทรทวงหนี้โหดแบบกรณีข้างต้นอย่างแน่นอน เพียงคุณมีรถทุกประเภทก็สามารถนำมาขอสินเชื่อรถยนต์ พร้อมบัตรติดล้อที่ให้คุณยืมเงินฉุกเฉินได้ตลอดเวลา ไม่กดมาใช้ ก็ไม่เสียดอกเบี้ยอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: Thai PBS, PPTV