การผิดนัดชำระหนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงขั้นถูกยึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากเผชิญ แต่หากรู้และเข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงสิทธิของตนเอง ก็สามารถหาทางออกและจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม เงินติดล้อจะมาอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือนที่ลูกหนี้ควรรู้ไว้กันครับ
การยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์คืออะไร
การยึดทรัพย์ คือ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อนำไปขายทอดตลาด และนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ส่วนการอายัดทรัพย์ คือ การสั่งห้ามไม่ให้ลูกหนี้ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัด
เป็นหนี้เท่าไหร่ถึงโดนยึดทรัพย์
การที่ลูกหนี้จะถูกยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เป็นหนี้เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผิดนัดชำระด้วย โดยทั่วไป หากผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน หนี้จะกลายเป็น “หนี้เสีย” และเจ้าหนี้มีสิทธิดำเนินคดีทางกฎหมาย เมื่อศาลมีคำพิพากษา แล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายใน 30 วัน เจ้าหนี้จะสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อยึด หรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ได้ครับ
เช็กรายการที่เจ้าหนี้ขอยึดทรัพย์ได้
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้หลายประเภท แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- บ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ ทั้งที่ติดจำนองและไม่ติดจำนอง สามารถถูกยึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย
- ยานพาหนะส่วนตัว เช่น รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ สามารถถูกยึดได้ หากไม่ใช่เครื่องมือที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหลัก
- เครื่องประดับและของมีค่า เช่น เพชร ทองคำ นาฬิกา หรือของสะสมที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 บาท
- เฟอร์นิเจอร์และของใช้ส่วนตัวของลูกหนี้ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
- เครื่องมือประกอบอาชีพของลูกหนี้ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 บาท
เช็กรายการที่เจ้าหนี้ขออายัดทรัพย์ได้ และทำไม่ได้
การอายัดทรัพย์มีทั้งส่วนที่สามารถอายัดได้และไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องนั้นๆ มาดูรายละเอียดกันครับ
รายการที่ขออายัดทรัพย์ได้
- เงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนของพนักงานเอกชนที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท สามารถอายัดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และเงินคงเหลือของลูกหนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เช่น ถ้าลูกหนี้มีเงินเดือน 25,000 บาท จะขออายัดเงินเดือนได้สูงสุดแค่ 5,000 บาท เท่านั้น
- เงินโบนัสประจำปีสามารถอายัดได้ไม่เกิน 50% ของจำนวนเงินที่ได้รับ
- เงินค่าคอมมิชชั่นสามารถอายัดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้
- เงินในบัญชีธนาคาร สามารถอายัดได้ทั้งหมด
- เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนต่างๆ สามารถอายัดได้ทั้งหมด
- เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน รวมถึงค่าสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง หรือค่าเช่าบ้าน สามารถอายัดได้ทั้งหมด
รายการที่ไม่สามารถขออายัดทรัพย์ได้
- เงินเดือนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในหน่วยงานราชการ
- เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- เงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ
- เงินเดือน เงินค่าจ้าง หรือเงินสงเคราะห์ ที่รวมกันแล้วไม่เกิน 20,000 บาท
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ได้รับจากการตายของผู้อื่น
ลูกหนี้โดนอายัดเงินเดือนซ้ำอีกได้หรือไม่
ตามกฎหมาย เมื่อเจ้าหนี้รายใดอายัดเงินเดือนของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้รายอื่นจะไม่สามารถอายัดเงินเดือนซ้ำได้อีก จะต้องรอให้การอายัดของเจ้าหนี้รายแรกสิ้นสุดก่อน หรืออาจขอแบ่งส่วนจากการอายัดของเจ้าหนี้รายแรกได้ โดยการอายัดมีอายุความ 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาครับ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ถ้าครบ 10 ปีแล้ว ลูกหนี้ขอยกเลิกการอายัดเงินเดือนได้ เพราะการอายัดเงินเดือนจะมีผลจนกว่าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับชำระครบถ้วนแล้ว แม้ว่าระยะเวลาจะเกิน 10 ปีครับ
ลูกหนี้ขอลดจำนวนเงินอายัดได้ไหม
ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอลดจำนวนเงินที่ถูกอายัดได้ไม่เกิน 50% โดยต้องแสดงหลักฐานความจำเป็น เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าเล่าเรียนบุตร โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถพิจารณาลดการอายัดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนที่อายัด
เงินเดือนไม่ถึง 20000 โดนอายัดเงินเดือนได้ไหม
หลักเกณฑ์การอายัดเงินเดือน กรมบังคับคดี 2568 กำหนดไว้ว่า ลูกหนี้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท จะไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า หนี้จะระงับไป เพียงแต่เจ้าหนี้ต้องหาวิธีอื่นในการติดตามทวงถามหนี้แทนครับ
สรุป ไม่อยากโดนยึดทรัพย์ ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้
การถูกยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนเป็นสถานการณ์ที่สร้างความเครียดและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เมื่อเริ่มมีสัญญาณว่าอาจมีปัญหาในการชำระหนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรรีบเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายจนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีภาระหนี้หลายก้อนที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือน
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาทางออกในการจัดการภาระหนี้ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์จากเงินติดล้อ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยรวมหนี้ให้เป็นก้อนเดียว ด้วยการใช้เล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน คุณสามารถนำเงินก้อนที่ได้ไปปิดหนี้เดิมที่มีดอกเบี้ยสูง และผ่อนชำระกับเงินติดล้อในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม พร้อมระยะเวลาผ่อนชำระที่ยืดหยุ่น ทำให้การบริหารจัดการหนี้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในอนาคตครับ โดยสำหรับลูกค้าที่มีประวัติชำระเงินดี เรายังมีส่วนลดดอกเบี้ยให้อีกด้วย