วัฒนธรรมองค์กร เป็นค่านิยามหรือความเชื่อที่ทุกคนในองค์กรต่างปฏิบัติให้กลายเป็นธรรมเนียม โดยสิ่งนี้จะช่วยหลอมรวมทั้งคนเก่าและคนใหม่ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยวัฒนธรรมองค์กรจะถูกกำหนดทิศทางเอาไว้ให้เป็นไปตามกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จแต่ถ้าวันหนึ่งเกิดวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ (Toxic Culture) ที่ค่อยๆ กัดกร่อนค่านิยามที่เคยตั้งเอาไว้ ก็มีโอกาสมากที่คนในองค์กรจะลาออกไปได้ง่ายๆ เช่นกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียบุคลากรไป นี่คือ 5 สัญญาณเตือนภัยที่บริษัทกำลังเข้าสู่ Toxic Culture
Toxic Culture คืออะไร
Toxic Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ คือสภาพแวดล้อมแย่ๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ส่งพลังงานขั้วลบที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงาน คอยกีดขวางการพัฒนาทักษะของบุคลากร ซ้ำยังเป็นชนวนที่ทำให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์อันแย่ต่อกัน ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน งานไปไม่ถึงเป้าหมาย และส่งผลให้องค์กรไม่เติบโตเพราะคนที่เจอ Toxic Culture ไม่สามารถทนอยู่ในองค์กรต่อไปได้
5 สัญญาณเตือน Toxic Culture ที่ทำลายบรรยากาศขององค์กร
Toxic Culture เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนในองค์กรลาออก ต่อให้เงินค่าตอบแทนสูงหรือมีสวัสดิการที่ดี แต่วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ ก็ทำให้พวกเขาลาออกไป เพราะใครๆ ก็ต้องการมองหาชีวิตการทำงานที่มีความสุข และหนีให้ไกลจากองค์กรที่มี Toxic Culture ซึ่ง 5 สัญญาณเตือนที่นายจ้างต้องใส่ใจก่อนสายเกินไป คือ
สภาพแวดล้อมในองค์กรที่มีแต่การนินทาลับหลังหรือพูดจาเสียดสีกัน
เพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมทีมที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การฝ่าฟันปัญหาระหว่างการทำงานผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เมื่อคนในทีมทำอะไรผิดพลาด ก็ควรพูดกัน ฟีดแบ็กกันตรงไปตรงมาแบบมีวาทศิลป์ เพื่อให้คนที่ฟังได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แต่ถ้าคนในองค์กรแบ่งพรรคแบ่งพวกแล้วสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษขึ้นมา รับรองว่านายจ้างจะเจอปัญหาที่ใหญ่โตแน่ๆ
เพราะสภาพแวดล้อมในองค์กรที่รายล้อมไปด้วยคนชอบนินทาว่าร้าย ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษสุดแย่ ถึงแม้ร่างกายของคนที่ถูกกล่าวหาจะไม่มีบาดแผลทางการ แต่คำพูดเสียดสีเหล่านั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจ อาจส่งผลให้พนักงานคนนั้นมีความเครียดในการทำงาน และทำให้งานไม่บรรลุตามเป้าหมาย
วิธีรับมือกับการนินทาว่าร้ายในที่ทำงาน
ในฐานะที่เป็นนายจ้างไม่ควรเพิกเฉยต่อเหตุการณ์กลั่นแกล้งหรือนินทา ซึ่งนายจ้างต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าการนินทาเป็นสิ่งที่เลวร้าย เพราะสร้างความบาดหมางให้แก่กัน รับไม่ได้ และทำให้องค์กรไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ หากนายจ้างเพิกเฉยกับพฤติกรรมเช่นนี้จะกลายเป็นว่าการนินทาว่าร้ายเป็นสิ่งที่องค์กรรับได้ อาจทำให้นายจ้างต้องเสียบุคลากรคนอื่นๆ ไปเพราะไม่สามารถทนวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษได้อีกต่อไป สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนให้บรรยากาศในองค์กรเป็นบวกมากยิ่งๆ ขึ้น คือจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ให้คนในองค์กรได้พูดคุยกัน ปรับความเข้าใจกันมากขึ้น และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันอีกด้วย
สภาพแวดล้อมในองค์กรที่กลัวความล้มเหลว
เมื่อพนักงานถูกลงโทษในความผิดพลาดจากการทำงาน พวกเขาจะมองว่าความล้มเหลวครั้งนี้คือเรื่องที่น่าอับอาย และโทษตัวเองว่ากระบวนการความคิดหรือการวางแผนงานที่ได้ลงมือทำมาตั้งแต่เริ่มนั้นไม่ได้ผล ส่งผลให้พวกเขากลัวความล้มเหลว เลยไม่กล้าที่ใช้ความผิดพลาดนี้มาพัฒนาทักษะในการทำงานให้ตัวเอง ถ้าพนักงานทุกคนล้วนมีแนวคิดว่า “กลัวความล้มเหลว” องค์กรก็จะถูกแช่แข็ง ไม่มีใครกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ลงไปในงาน ไม่เกิดการลงมือทำสิ่งใหม่ ไม่มีการพัฒนาทักษะให้เก่งขึ้น คนที่ไหวตัวทันก็ชิงลาออกไปในที่สุด
วิธีรับมือกับความกลัวการล้มเหลวในองค์กร
การลงโทษจะทำให้พวกเขาเกิดบาดแผลในจิตใจ สิ่งที่นายจ้างต้องรับมือต้องไม่ลงโทษ แต่ให้ช่วยกันหาสาเหตุว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้งานพลาดเพื่อป้องกันการผิดพลาดในงานอื่นๆ และปรับมุมมองให้กับพวกเขารู้สึกว่าความผิดพลาดคือเรื่องปกติ ใครๆ ก็ผิดพลาดได้ ผิดพลาดก็เริ่มใหม่ ลงมือใหม่ ทำใหม่ แล้วนำความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ผิดครั้งต่อไป เมื่อพวกเขาไม่กลัวความล้มเหลวในการทำงานก็จะทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้ด้วยการที่พนักงานผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาเรื่อยๆ นั่นเอง
สภาพแวดล้อมในองค์กรที่กลัวนายจ้าง
ความกลัวของพนักงานที่มีต่อนายจ้างในขั้นที่ไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่กล้าสบตาถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่กำลัง Toxic สมมติว่านายจ้างไม่เคยรับฟังไอเดียใครเลย หรือได้รับคำสั่งมาก็ทำตามโดยทันทีโดยไม่ได้โต้แย้งถึงความสมเหตุสมผล เมื่อสั่งสมเข้าเรื่อยๆ วัฒนธรรมองค์กรก็จะกลายเป็นการรับคำสั่งอย่างเดียว (Passive) ส่งผลให้พนักงานมีความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในการทำงานเพราะไม่รู้จะถูกตำหนิเมื่อไหร่ คนที่พฤติกรรมแบบนี้ไม่ไหวก็ลาออกไปในที่สุด
วิธีรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ลูกจ้างกลัวนายจ้าง
ถ้านายจ้างสามารถประเมินพนักงานได้ ตัวนายจ้างเองก็ต้องยอมรับการถูกประเมินได้เหมือนกัน ในโลกนี้ไม่ได้มีใครสมบูรณ์แบบได้ 100% และไม่มีใครรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองได้ทุกข้อ ถ้านายจ้างเปิดให้พนักงานฟีดแบ็กตนเอง พร้อมรับข้อบกพร่องพนักงานก็จะเลิกกลัวนายจ้าง อีกทั้งถ้าเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงไอเดียในการทำงาน ไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ก็จะพนักงานทุกคนกล้าพูดกล้าโต้แย้งกับนายจ้างมากขึ้น แม้ไอเดียของพวกเขาจะถูกปัดตกไปก็ยังดีกว่าการที่ไม่ได้ออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานอะไรเลย
สภาพแวดล้อมในองค์กรที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ
องค์กรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้นั้น พนักงานทุกคนต้องมองเป้าหมายเดียวกัน รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ถ้าแต่ละคนต่างมีเป้าหมายของตัวเอง แข่งขันกัน แทงข้างหลังกัน ขาดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมทีมหรือเพื่อนร่วมงาน คอยจับผิดแต่ความผิดพลาดและไม่ใส่ใจความรับผิดชอบของตัวเอง หมายความว่าองค์กรนี้ไม่ใช่ “ทีม” สิ่งนี้เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ นอกจากองค์กรจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ยังมีโอกาสเสียบุคลากรหลายคนอีกด้วย เพราะสภาพแวดล้อมขั้วลบแบบนี้ ทำงานไปก็ไม่มีความสุขอยู่ดี
วิธีรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ
นายจ้างต้องมีความเห็นอกเห็นใจต้องทุกคนในองค์กรอย่างเท่าเทียม เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาแล้วต้องตัดสินใจต้องไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง และคิดเหตุผลในหลายๆ มุมว่าทำไม ไม่ใช่เอนเอียงไปข้างในข้างหนึ่ง เมื่อพนักงานรู้ว่านายจ้างมีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก มีความเห็นอกเห็นใจทุกการตัดสินใจ และมีเป้าหมายเดินไปถึงเส้นชัย พนักงานก็จะทำตามแบบอย่างที่นายจ้างได้แสดงออกมานั่นเอง
สภาพแวดล้อมในองค์กรที่พนักงานลาออกสูง
ถ้าอัตราพนักงานลาออกสูง หรือมีการขาดงานที่บ่อย สามารถมองภาพรวมได้เลยว่าต้องมีเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ “วัฒนธรรมในองค์กรที่เป็นพิษ” เมื่อสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษก็ไม่จำเป็นจะต้องทนอยู่ให้เหนื่อยใจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ทำงานมานานหลายปี หรือพนักงานที่เข้ามาทำงานได้ไม่นานแล้วทำเรื่องลากออกไป ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะทนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น
วิธีรับมือกับสภาพแวดล้อมในองค์กรที่พนักงานลาออกสูง
นายจ้างต้องมาสำรวจว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งการจะเดินไปถามต่อหน้าคงไม่มีใครกล้าตอบ ไอเดียที่ดีคือการทำแบบสำรวจให้พนักงานได้ตอบหรือร้องเรียนโดยไม่ต้องระบุตัวตน ว่าอยากได้อะไร ไม่ชอบอะไร หรือต้องการแก้ไขอะไร เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่พนักงานกำลังเจอ เมื่อนายจ้างได้ข้อมูลที่ถูกจุดจากพนักงาน จะได้นำมาปรับแก้เพื่อคลี่คลายวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษให้หายไป
สรุป
นี่คือ 5 สัญญาณเตือนภัยที่กำลังแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณกำลังเป็นพิษ ซึ่ง Toxic Culture นั้นเป็นผลเสียต่อทั้งพนักงานในองค์กรที่จะเลือกวิธีลาออกเพื่อหนีสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายนั้น และเป็นผลเสียต่อองค์กรที่ไม่สามารถรักษา Talent ที่ดีเอาไว้ได้ ดังนั้น ถ้าต้องการให้องค์กรเดินไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ควรเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
ลองศึกษาเรื่องราวของเราเพิ่มเติมได้ที่
วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร? วัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีหน้าตาแบบไหน? และถ้าคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรในแบบชาวเงินติดล้อ มาเข้าร่วม TIDLOR Culture Wow และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องค่านิยมกับพวกเราได้นะ
สนใจติดต่อ 02-792-1990 หรือกรอกข้อมูล
ที่นี่เพื่อรอการติดต่อกลับจาก Culture Gangster
ที่มา:
https://www.atlassian.com/blog/teamwork/toxic-work-culture
https://www.inc.com/tanya-prive/4-devastating-consequences-of-a-toxic-workplace-culture.html
https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2019/08/26/is-your-company-culture-toxic-heres-how-to-tell/?sh=5fada851d47f