หน้าแรก ติดล้อสตอรี่ ทำความรู้จักกับ 4 รูปแบบวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบที่เหมาะกับคุณ

ทำความรู้จักกับ 4 รูปแบบวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบที่เหมาะกับคุณ

19 สิงหาคม 2565
ทำความรู้จักกับ 4 รูปแบบวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบที่เหมาะกับคุณ

องค์กรแต่ละองค์กรมีเป้าหมาย วิธีการทำงาน และธรรมชาติของคนในองค์กรที่ต่างกัน การออกแบบวัฒนธรรมองค์กรตามเทรนด์โดยมองข้ามเป้าหมายร่วมกันของบริษัทและพนักงานจึงเป็นเรื่องที่นับว่าเป็นการเดินเกมที่พลาด อย่างเช่น เงินติดล้อที่เคยวางแผนปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรผ่านค่านิยมองค์กร ที่สร้างสรรค์ด้วยคำที่คล้องจอง สละสลวย แปะไว้ที่กำแพงให้เป็นเครื่องประดับให้กับองค์กร โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายและธรรมชาติของคนในองค์กร ค่านิยมเหล่านั้นกลับใช้งานไม่ได้จริง พนักงานไม่สามารถปฏิบัติตามได้เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในค่านิยมแต่ละข้อ

เพราะการที่บริษัทหนึ่งจะมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จไม่ได้แปลว่าแค่ทำตามเทรนด์แล้วจะได้ผลลัพธ์สุดปังเหมือนๆ กับคนอื่น แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ารูปแบบไหนเหมาะกับเรา? วันนี้เงินติดล้อมีแนวคิดมาแบ่งปัน

วัฒนธรรมองค์กร 4 ประเภท

โดยทั่วไปวัฒนธรรมองค์กรมักจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท โดยยึดจากงานวิจัยของ Robert E. Quinn และ Kim S. Cameron จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมากกว่า 90% ของบริษัททั่วโลกมักจะใช้ 1 ใน 4 ของรูปแบบวัฒนธรรมเหล่านี้เกณฑ์หลักในการแบ่งประเภทขององค์กรมี 2 แกนคือ:

  1. โฟกัสที่ภายในองค์กรและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวขององค์กร (Internal focus and Integration) เทียบกับ โฟกัสที่ภายนอกองค์กรและการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร (External focus and Differentiation)
  2. ความยืดหยุ่นที่พิจารณาตามดุลยพินิจ (Flexibility and Discretion) เทียบกับ ความมั่นคงและการควบคุม (Stability and Control)
รูปแบบ วัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมแบบครอบครัว (Clan Culture)

วัฒนธรรมแบบครอบครัวจะมองว่าทุกคนมีคุณค่า บริษัททำให้พนักงานรู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความเป็น Flat Organization คือมีความเป็นลำดับขั้นน้อย เพราะให้ความสำคัญกับการสื่อสารพูดคุยมากที่สุด ซึ่งจะช่วยสลายกำแพงระหว่างตำแหน่งและทำให้พนักงานทุกระดับรวมถึงผู้บริหารมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยวัฒนธรรมประเภทนี้จะเน้นการปฏิบัติและมีความยืดหยุ่นสูง

  • จุดที่ให้ความสำคัญ: การให้คำปรึกษาและการทำงานเป็นทีม
  • ข้อดี: พนักงานจะมี Engagement สูงและมีความสุขกับการทำงาน ทั้งยังปรับตัวพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีเพราะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถตัดสินใจทำอะไรได้ไวโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน
  • ข้อควรระวัง: วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้จะรักษาไว้ได้ยากเมื่อบริษัทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสั่งการอาจทำให้การดำเนินงานในแต่ละวันดูขาดทิศทางไปบ้าง
  • พบได้ที่: บริษัท Start-up และบริษัทขนาดเล็ก หรือองค์กรที่ขึ้นชื่อด้านวัฒนธรรม เช่น Zappos

วัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ (Adhocracy Culture)

วัฒนธรรมแบบความคิดสร้างสรรค์เป็นรากฐานของการมีนวัตกรรมที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่น ดังนั้นเราจะเห็นว่าบริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบนี้มักจะเป็นบริษัทที่ก้าวนำผู้อื่นเสมอๆ หรือเป็นผู้นำแห่งวงการ ที่มีแนวคิดสนับสนุนให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ กล้าคิดกล้าลอง และแน่นอนว่าไอเดียเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร สร้างลู่ทางการเติบโตและความสำเร็จให้กับบริษัทได้ แต่การจะสนับสนุนให้พนักงานลุยได้แบบไม่ต้องกังวลแบบนี้ แน่นอนว่าบริษัทต้องพร้อมเสี่ยงรับความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย

  • จุดที่ให้ความสำคัญ: ความกล้าเสี่ยง ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ
  • ข้อดี: พนักงานมีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ บริษัทมักจะมีชื่อเสียงและทำกำไรได้สูง
  • ข้อควรระวัง: บริษัทต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ ส่วนพนักงานก็ต้องรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันด้วยเช่นกัน
  • พบได้ที่: มักพบได้ในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตอะไรใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา เช่น บริษัท Tech ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายอย่าง Google หรือ Apple

วัฒนธรรมแบบการตลาด (Market Culture)

วัฒนธรรมแบบการตลาดให้ความสำคัญกับการปั่นตัวเลข เน้นการทำกำไร โครงสร้างขององค์กรมักจะประกอบไปด้วยพนักงานหลายระดับส่งผลทำให้ขั้นตอนการทำงานมีลำดับและกระบวนการที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพนักงานในระดับต่างๆ ที่กว้างขึ้น และวัฒนธรรมประเภทนี้จะเน้นเรื่องการพุ่งเข้าชนเป้าหมายและผลลัพธ์ความสำเร็จขององค์กรในภาพใหญ่มากกว่าความพึงพอใจของทีม

  • จุดที่ให้ความสำคัญ: การแข่งขัน การเติบโต การทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ
  • ข้อดี: สามารถทำกำไรและประสบความสำเร็จได้ และการมีเป้าหมายและการวัดผลที่ชัดเจนช่วยกำหนดทิศทางการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
  • ข้อควรระวัง: การมุ่งไปที่ผลกำไรเป็นหลักอาจทำให้พนักงานขาดแรงบันดาลใจกับงานจน Burn Out ในที่สุด โดยเฉพาะเวลาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนตลอดเวลาไม่มีวันหยุด
  • พบได้ที่: เป้าหมายของบริษัทที่ใช้วัฒนธรรมแบบการตลาดคือการเป็นองค์กรที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมของตัวเอง บริษัทเหล่านี้จึงมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำของวงการอยู่แล้ว เช่น Amazon และพร้อมจะแข่งขันกับทุกคนที่มีแนวโน้มว่าจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้

วัฒนธรรมแบบลำดับขั้น (Hierarchy Culture)

บริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบลำดับขั้นจะยึดมั่นในโครงสร้างองค์กรแบบดั้งเดิม เป็นบริษัทที่โฟกัสที่ภายในที่มีการแบ่งแยกพนักงานและหัวหน้าออกจากกันชัดเจน นอกจากโครงสร้างที่เข้มงวดแล้ว ยังมีการกำหนดวิธีการทำสิ่งต่างๆ ไว้อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและลดความเสี่ยงให้มากที่สุด

  • จุดที่ให้ความสำคัญ: โครงสร้างและความมั่นคง
  • ข้อดี: มีทิศทางและกระบวนการชัดเจนเพื่อทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ
  • ข้อควรระวัง: ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ทำให้บริษัทเหล่านี้ปรับตัวช้า และยังเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับบริษัทมากกว่าความคิดเห็นของพนักงานด้วย
  • พบได้ที่: พบได้ในองค์กรที่ไม่ได้โฟกัสที่จะต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรในระยะเวลาอันใกล้ แต่โฟกัสการบริหารงานแบบวันต่อวัน ตัวอย่างเช่น หน่วยงานของรัฐ หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด

สรุป

หลังจากอ่านบทความนี้จบบางคนก็อาจจะคิดทันทีว่า “ใช่ องค์กรเราเป็นแบบนี้เลย” แต่บางคนก็อาจจะยังไม่แน่ใจนักว่าจะไปทางไหนดี การทำแบบทดสอบเครื่องมือวัดวัฒนธรรมองค์กรหรือ Organizational Culture Assessment Instrument (OCAI) เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้คุณเข้าใจบริษัทของคุณเองได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญในการพิจารณาเลือกรูปแบบวัฒนธรรมองค์กรคือรู้ว่า 1. ตอนนี้คุณอยู่ตรงไหน 2. ในอนาคตคุณต้องการอยู่จุดไหน หากตอบคำถามนี้ได้ คุณก็สามารถหาจุดสมดุลระหว่างความเป้าหมายร่วมของบริษัทและพนักงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของบริษัทสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของเงินติดล้อและวิถีที่เราได้ลงมือทำ มาเข้าร่วม TIDLOR Culture Camp และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องค่านิยมกับพวกเราสิ!

สนใจติดต่อ 02-792-1888 ต่อ 5050 หรือกรอกข้อมูลที่นี่เพื่อรอการติดต่อกลับจาก Culture Gangster

ที่มา:

https://builtin.com/company-culture/types-of-organizational-culture
https://www.atlassian.com/blog/teamwork/types-of-corporate-culture
เงินติดล้อ

ติดล้อสตอรี่โดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น