ธุรกิจส่วนตัว เป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือพนักงานที่ผ่านการทำงานมาแล้วนับสิบปีก็ตาม แต่การที่เราจะก้าวไปถึงความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใดนัก ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่กระทบเข้ามา
สภาพเศรษฐกิจ การแข่งขัน เงินทุน หลายสิ่งหลายอย่างจะเริ่มประดังประเดเข้ามาใส่คนที่คิดตั้งตัวเป็นนายตัวเอง คนที่ประสบความสำเร็จส่วนมากจะต้องผ่านการคิด กลั่นกรอง วางแผนธุรกิจของตัวเองอย่างรัดกุม คิดแผนธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพราะต่อให้ประสบความสำเร็จมากเเค่ไหน มันก็อาจไม่ได้ยืนยาวอย่างที่คาดหวังเอาไว้ จึงต้องมองการณ์ไกลควบคู่ไปด้วย
ในวันนี้เราเลยนำข้อคิดมาฝากกันว่าถ้าจะเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวซักอย่างเนี่ย ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
-
ธุรกิจที่จะทำเหมาะกับเราขนาดไหน
ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงได้ยินคำพูดประมาณว่า ธุรกิจน่ะทำ ๆ ไปเถอะ จะรุ่งหรือร่วงเดี๋ยวเราก็เห็นเอง แต่ในตอนนี้มันไม่ง่ายขนาดนั้นแล้วครับ เพราะการแข่งขันมันสูง เลยทำให้เงินที่ต้องลงทุนเยอะตามไป ถ้าพลาดทีมีหวังเจ็บหนักแน่นอน
ดังนั้นก่อนคิดทำธุรกิจส่วนตัว ต้องดูความเหมาะสม ก่อนเสมอ ทั้งด้านทักษะที่เรามี ความชอบที่อยู่ในตัว รวมถึงคู่แข่งในตลาด ไม่อย่างนั้นเส้นทางที่เราคิดไว้ มันอาจยากลำบากกว่าเดิม จนพาลให้ถอดใจแต่เนิ่น ๆ เลยก็ได้
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
-
ทักษะที่มี จะช่วยในการย่นระยะเวลาการทำธุรกิจ ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น ถ้าเรามีทักษะทางบัญชี เราก็สามารถจัดการการเงินได้ลงตัวกว่าไม่มี หรือถ้าเรามีทักษะด้านการทำอาหาร เราก็สามารถเปิดร้านอาหารได้โดยที่ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนเพิ่มมากนัก
-
ความชอบ หลายคนไม่ใส่ใจและปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ ทั้งที่มันเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการทำงาน ความชอบจะทำให้เราสามารถจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่า รวมถึงทำให้เราใจเย็น มีแรงสู้เมื่อเผชิญกับปัญหา และมีความสุขกับการทำงานแม้ใช้เวลานานก็ตาม
-
คู่แข่ง ทุกธุรกิจย่อมมีคู่แข่งไม่ว่าจะช้าก็เร็ว แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราไม่กระโดดลงทำธุรกิจที่มีคู่แข่ง อยู่เต็มตลาด หรือขายของที่มีคนขายอยู่เต็มพื้นที่ เพราะกว่าเราจะได้กำไรจากธุรกิจนั้น ๆ คงต้องลงทุนไปอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
-
เงินทุนสำหรับธุรกิจส่วนตัวคือปัจจัยหลัก
เงิน ยังคงเป็นสิ่งที่คนเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวจำเป็นต้องใช้มากที่สุด ความชอบ ความพยายาม หรือความรู้ จะไม่แสดงประสิทธิภาพของมันอย่างเต็มที่เลยถ้าเราขาด เงิน ดังนั้นก่อนทำธุรกิจ สิ่งที่ควรทำคือการวางแผนการเงินในการทำธุรกิจเสียก่อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในระยะเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันในอนาคตสำหรับลงทุน ที่สำคัญ อย่านำค่าใช้จ่ายในการลงทุนมารวมกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่อย่างนั้นเราจะจัดการด้านการเงินลำบาก มีหลายธุรกิจที่ดูเหมือนไปได้สวย แต่พลาดง่าย ๆ กับการใช้เงินที่หมุนในธุรกิจอย่างไม่มีการวางแผนมาแล้ว
อีกเรื่องคือการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจ คนที่คิดประกอบกิจการควรเลือกผู้ให้สินเชื่อหรือผู้ปล่อยกู้ที่เชื่อถือได้ มีกฎหมายรองรับ การกู้หนี้นอกระบบเพื่อมาประกอบธุรกิจส่วนตัวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหนี้บานทั้ง ต้นทั้งดอกในระยะยาว
-
ห้ามขาดแผนธุรกิจ
มีเงิน ต้องมีแผน...ขาดแผน ระวังขาดทุน
แผนธุรกิจ เปรียบเสมือนเครื่องนำทางชั้นยอดในการลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ประเภทไหน ก็ต้องการการวางแผนล่วงหน้าด้วยกันทั้งนั้น
แล้วแผนนี้ต้องการอะไรบ้าง นี่คือส่วนประกอบของแผนธุรกิจคร่าว ๆ ครับ
- รายรับ เราได้เงินจากไหน ลูกค้าเป็นคนกลุ่มไหน เช่น เราลงทุนขายขนมหน้าโรงเรียน มีลูกค้าเป็นนักเรียน เราต้องขายขนมอะไรที่เด็กสมัยนี้อยากซื้อบ้าง
- รายจ่าย ต้นทุนของเราเท่าไหร่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่ ค่าโฆษณา ค่าจ้างคน มีอะไรต้องเสียหรือไม่
- กำไร ต้นทุนกับราคาทำธุรกิจนี้แล้วคุ้มค่าหรือไม่ ควรลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นด้วย
- พื้นที่ การลงทุนธุรกิจต้องอาศัยพื้นที่หรือเปล่า ถ้าเป็นการขายของทางอินเทอร์เน็ตจะต้องมีที่เก็บสินค้าหรือไม่ อย่างไร
- ทำอย่างไรให้ดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรือธุรกิจอื่น ๆ ก็ต้องคำนึงถึงข้อนี้ ทำอย่างไรคนถึงจะสนใจของ ๆ เรา แบรนด์เรา จำเป็นต้องโฆษณาอะไรมั้ย มีผลิตภัณฑ์อะไรที่เป็นจุดเด่นหรือเปล่า แม้แต่ร้านขายโตเกียวเองก็ยังมีไส้โตเกียวที่ขายดีกว่าไส้อื่นด้วยซ้ำไป
ในการวางแผน เราสามารถวางพวกหัวข้อเหล่านี้ไว้ในกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ เพื่อที่เราจะสามารถกำหนดทิศทางของธุรกิจให้ชัดเจนและมั่นคง ถ้าเวลาผ่านไปพักหนึ่งแล้ว เราอาจต้องเพิ่มในส่วนของหุ้นส่วน ความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ โครงสร้างราคาต่อสินค้าหนึ่งชิ้น อะไรประมาณนี้เข้าไปด้วย เพื่อที่แผนธุรกิจจะได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
-
ต้องใช้คนขนาดไหน
ต่อให้เป็นธุรกิจส่วนตัว แต่มันคงเดินหน้าต่อไปได้ยากหากไม่ได้รับความร่วมมือกับพนักงาน ลูกค้าหรือแม้แต่หุ้นส่วนทางธุรกิจ เมื่อคิดจะลงทุนธุรกิจควรคิดแผนงาน จำนวนคน และการเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน
สมมติ นาย ก. ต้องการทำธุรกิจขายส่งสินค้าออนไลน์ นาย ก. ต้องสังเกตแล้วว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทไหน ลำบากในการจัดส่งหรือไม่ ตัวนาย ก. สามารถขับรถเพื่อส่งของได้รึเปล่า ถ้าทำไม่ได้ ต้องใช้คนช่วยในจุดไหน หรือถ้าออเดอร์เยอะขึ้น ต้องเพิ่มคนในส่วนใด เช่น
- คนซื้อเยอะ อาจต้องเพิ่มคนแพ็คของ คนส่งของ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
- คนซื้อน้อย อาจต้องพิจารณาหาฝ่ายขายซักคน หรือเลือกคนมีความสามารถมาเพื่อติดต่องาน เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากปริมาณคน เรายังต้องคำนึงถึงค่าจ้างและความคุ้มค่า หากเราต้องเสียเงินจ้างใครซักคนเข้ามาร่วมทีมเยอะเกินไป หากคำนวณรายรับรายจ่ายของกิจการแล้วไม่คุ้มทุน ก็ไม่ควรจ้างคนเพิ่ม
-
การจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
สิ่งสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แม้เราอยากจะเร่งให้ธุรกิจเติบโตไปได้ไกล แต่สุดท้ายยังมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลกระทบในธุรกิจของเรา สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจส่วนตัว ต้องประเมินความเสี่ยงเสียก่อน
ความเสี่ยงประเมินได้อย่างไร? ดูได้จากการสังเกตการณ์ เราต้องมองภาพรวมของธุรกิจและคำนึงถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คู่แข่งลดราคาสินค้าเพื่อแข่งกับเรา มีบริษัทใหญ่ลงมาเล่นในตลาด ปัญหาการจัดส่งสินค้า หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องคน แน่นอนว่ามันคงเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย แต่การมองการณ์ไกลย่อมดีกว่า เพราะเราสามารถหาแผนรับมือได้ทัน แม้จะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม