เงินติดล้อเป็นองค์กรที่มีจุดเริ่มต้นจากเจตนาที่ดีและจริงใจที่จะส่งมอบโอกาสของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้กับกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่เรียบง่าย โปร่งใส และเป็นธรรม แต่แม้ว่ารูปแบบธุรกิจของเงินติดล้อจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสู่โลกเป็นจำนวนมาก แต่ก็คำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมและโลกที่ดีกว่าเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานได้ใช้ชีวิตในโลกได้อย่างยั่งยืนได้ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ความรับผิดชอบของเงินติดล้อ ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในแนวคิด ภารกิจ และชีวิตการทำงานทุกวันของชาวเงินติดล้อมาตั้งแต่คำว่า ESG ยังไม่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจ
กระทั่งวันนี้ แม้ว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ชาวเงินติดล้อร่วมกันสร้างจะขยายใหญ่ขึ้น แต่เส้นทางร่วมสร้างโลกสีเขียวของชาวเงินติดล้อก็ยังคงดำเนินต่อไปและไม่สิ้นสุด
ย้อนรอย จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของภารกิจที่ยิ่งใหญ่
ชาวเงินติดล้อร่วมกันปลูกฝังและสร้าง ‘แนวคิด ESG’ โดยมีเจตนาในการสร้างองค์กรและค่านิยม ‘มีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ’ ของชาวเงินติดล้อเป็นแรงผลักดัน ซึ่งเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวอย่างการประหยัดน้ำ-ไฟ ที่ไม่เพียงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อโลกอีกด้วย ตามมาด้วยการทยอยเปลี่ยนจากหลอดไฟตะเกียบและหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มาเป็นหลอดไฟ LED มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันนี้สำนักงานใหญ่ของเงินติดล้อได้เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED แล้ว 100% ร่วมกับการเปลี่ยนมาใช้สวิตช์ไฟแบบปิด-เปิดอัตโนมัติ หรือ Motion Switch เพื่อลดการเปิดไฟทิ้งไว้โดยไม่จำเป็นในบางจุด เช่นบริเวณเครื่องปริ้นท์เอกสาร นอกจากนี้ที่สาขาเงินติดล้อยังมีการนำโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้แสงสว่างบริเวณด้านหน้าสาขา ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 300 สาขา และมีเป้าหมายจะเปลี่ยนมาใช้โซลาร์เซลล์ เพิ่มเติมอีกให้ครบทุกสาขา
ตัวแทนทีม Business Support and Central Service (BSCS) หรือ ทีมบริการกลาง เล่าถึงแนวทางในการร่วมสร้างโลกสีเขียวของเงินติดล้อว่า
"ที่เงินติดล้อเรามีค่านิยมกล้าคิดกล้าลอง พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อรับกับสิ่งใหม่ ทำให้เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างพลังงานสะอาดเข้ามาเราก็พร้อมจะปรับตัวและนำมาใช้ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่ลูกค้า องค์กร และคนในสังคมจะได้รับไปพร้อมกันด้วย อย่างเรื่องการลดใช้น้ำมัน เราเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้กับยานพาหนะของบริษัทจากเบนซินมาเป็นก๊าซโซฮอล์ และจากดีเซลมาเป็นไบโอดีเซลมาระยะหนึ่งแล้ว และตอนนี้เรามีโครงการใหม่ คือเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยจะเริ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน เนื่องจากในต่างจังหวัดยังมีข้อจำกัดของการติดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มากเพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้าได้ แต่เมื่อไหร่ที่ผลตอบรับจากผู้ใช้จริงและปัจจัยภายนอกพร้อมมากขึ้น ก็มีแผนที่จะขยายการใช้รถไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน"
เพิ่มแรงขับเคลื่อน ผ่านการจับมือกับพันธมิตร
ภารกิจร่วมสร้างโลกสีเขียวที่ชาวเงินติดล้อได้สื่อสารและลงมือทำกันภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่องยังมีอีกหลายโครงการ เช่นโครงการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ผ่านกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรอย่าง SCGP ในโครงการการคัดแยกกระดาษใช้แล้วถึง 21,150 กิโลกรัม เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ การคัดแยกฝากระป๋องและกระป๋องอลูมิเนียมเพื่อส่งไปผลิตเป็นขาเทียมให้กับผู้พิการจำนวนทั้งหมด 26 กิโลกรัม การคัดแยกขยะพลาสติก 748 กิโลกรัม เพื่อส่งไปผลิตเป็นผ้าไตรจีวร ที่วัดจากแดง 924 ผืน และนำไปผลิตเป็นชุด PPE ส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงโควิด-19 จำนวน 310 ชุด และร่วมมือกับพันธมิตร กลุ่มกรีนพหลโยธินในการเข้าร่วมกลุ่ม E-Waste คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งในช่วงเริ่มแรก มีการจัดวางถังคัดแยกอยู่ในสำนักงานใหญ่และศูนย์อบรมของเงินติดล้ออีก 2 ที่ และในปัจจุบันมีโครงการให้สาขาของเงินติดล้อตามหัวเมืองใหญ่ๆ ร่วมเป็นศูนย์รับขยะ E-Waste เพื่อให้มีพื้นที่รองรับขยะ E-Waste ก่อนจะส่งไปกำจัดได้อย่างถูกวิธีและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้เงินติดล้อเข้าร่วมโครงการ Care the Bear ที่ริเริ่มโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีความตระหนักรู้ เก็บรวบรวมข้อมูล และทบทวนอัตราการใช้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) ของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กร เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวางแผนลดการใช้พลังงาน และร่วมสร้างโลกสีเขียวตามแนวทางของแต่ละองค์กรได้ดียิ่งขึ้น
พลังของการตระหนักรู้ที่เปลี่ยนเป็นความเข้าใจ และการลงมือทำจริง
จากเจตนาและค่านิยมของชาวเงินติดล้อรวมกับความถี่และความสม่ำเสมอในการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และเปลี่ยนเป็นแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่และความถนัดของแต่ละคน แต่ละทีม ที่มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันคือ
‘การร่วมสร้างโลกสีเขียว'
“ทุกอย่างที่เราคิดและทำ เราจะคิดถึงผลสะท้อนต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยเสมอ อย่างการออกผลิตภัณฑ์ ‘บัตรติดล้อ’ ในมุมธุรกิจคือการสร้างความสะดวกเพิ่มขึ้นให้ลูกค้าสามารถนำวงเงินที่มีอยู่มาใช้ได้ในเวลาที่มีความจำเป็น แต่เวลาเดียวกันก็สามารถช่วยสร้างโลกสีเขียวได้ เพราะการที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา คือการช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมัน และการใช้บัตรติดล้อเพื่อถอนเงินสดยังช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษลงไปได้ทันที 25 แผ่น ต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อคิดปริมาณรวมทั้งปี บัตรติดล้อช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษลงได้ 198,082 กิโลกรัม และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 225,813 kgCO2e
เช่นเดียวกับระบบ E-Billing (ใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์) โดยสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนมารับใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์แทนการรับใบเสร็จกระดาษ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และอาจยังเปลี่ยนไม่ได้ทั้งหมด 100% เพราะลูกค้าเงินติดล้อต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ก็สามารถช่วยลดการใช้กระดาษไปถึง 1,851 กิโลกรัม และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2,110 kgCO2e ซึ่งสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของเงินติดล้อที่จะมอบบริการผ่านเทคโนโลยีที่สะดวกขึ้นให้ลูกค้า พร้อมๆ กับการให้โอกาสลูกค้าได้เป็นแนวร่วมในการสร้างโลกสีเขียวกับเงินติดล้อ”
ทีม BSCS ยังเสริมว่า “กุญแจสำคัญของการร่วมสร้างโลกสีเขียวคือความอดทน เพราะการสร้างโลกสีเขียวคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเราต้องเดินหน้าอย่างไม่ลดละ สื่อสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้อย่างน้อยสะกิดพวกเขาให้ตระหนักรู้ เมื่อทำไปสักระยะ ก็จะทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น และตกตะกอนเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ทำได้จริงและเหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละทีม และด้วยพลังของการร่วมมือร่วมใจของชาวเงินติดล้อทุกคน ก็จะทำให้เส้นทางกาสร้างโลกสีเขียวของเรายังคงแข็งแรงและเดินหน้าต่อไปได้”
เปลี่ยนชีวิตประจำวัน ให้เป็นชีวิตในโลกสีเขียว
แม้การร่วมสร้างโลกสีเขียวจะเป็นภารกิจที่ชาวเงินติดล้อร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง แต่ชาวเงินติดล้อก็ไม่เคยทิ้ง DNA ของตัวเอง โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกบรรยากาศของความสนุกและความคิดสร้างสรรค์ลงไปกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับพนักงานที่มีความสนใจและความชอบที่แตกต่างกันออกไป เช่น กิจกรรมประกวดการตกแต่งสาขาและพื้นที่การทำงานของแต่ละฝ่ายให้มีสีสันจากการใช้วัสดุอุปกรณ์หมุนเวียนตามหลัก Reusable และ กิจกรรมการประกวดงานศิลปะจากขยะเหลือใช้
ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมอย่าง ‘วันพุธชวนเธอมากรีน’ ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook Group ชาวเงินติดล้อ ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ชาวเงินติดล้อได้ร่วมชื่นชมและให้กำลังใจการใช้ชีวิตใน ‘วิถีกรีน’ ของเพื่อนร่วมงาน เช่น การนำถุงผ้ามาใช้แทนกระเป๋า การใช้แก้วส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก การนำข้าวกล่องจากบ้านมากินที่ทำงานแทนการซื้ออาหารที่ใส่ในกล่องโฟม หรือการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น
“เราพยายามทำให้การร่วมสร้างโลกสีเขียวเป็นกิจกรรมที่ทุกคน ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมได้ เพราะการทำคนเดียว เดินคนเดียวมันไม่สนุก และมันก็คงไม่สำเร็จ”
และทั้งหมดนี้ก็คือเส้นทางจากจุดเริ่มต้นของเจตนาที่ดีและพลังของการเดินไปด้วยกัน ที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างโลกสีเขียวของ ‘เงินติดล้อ’