5 สิ่งที่ต้องถามตัวเองให้ชัวร์! ก่อนเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์

5 สิ่งที่ต้องถามตัวเองให้ชัวร์! ก่อนเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์
รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ หนทางที่หลายๆ คนเลือกเพื่อหารายได้เสริม หรือแม้กระทั่งเอาไว้สร้างรายได้หลักกันเลยทีเดียว

ธุรกิจแฟรนไชส์

เนื่องด้วยข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ต้องริเริ่มก่อสร้างธุรกิจตั้งแต่ศูนย์ เพราะมีคนทำเอาไว้หมดแล้ว ไม่ต้องเสียเงินเสียแรง และเสียเวลาในการก่อตั้งธุรกิจ รวมถึงมีการทำการตลาดสร้างชื่อเอาไว้อยู่ก่อนแล้วด้วย ทำให้แฟรนไชส์จึงเป็นที่นิยมมากๆ ในการสร้างรายได้หลักหรือหารายได้เสริมในประเทศไทย

คุณคือคนหนึ่งที่กำลังมองหาธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ใช่ไหม? บทความนี้ไม่ได้จะมาแนะนำว่าแฟรนไชส์ไหนดัง ทำกำไรสูง คืนทุนไว เพราะมีสิ่งสำคัญมากกว่านั้นที่คุณต้องถามและพิจารณาให้ดีก่อนเลือกแฟรนไชส์

จะเลือกแฟรนไชส์ต้องดูอะไรบ้าง?

5 ขั้นตอนก่อนเลือกทำ ธุรกิจแฟรนไชส์

  1. ถามตัวเองว่าอยากทำจริงๆ หรือไม่

    สำหรับคำถามนี้หลายๆ คนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนไป เราอยากชวนให้คุณลองพิจารณาตัวเองอีกครัั้ง

    การทำธุรกิจนั้นมีเพียงแค่ความชอบอาจจะไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่ชอบกินสิ่งนี้ เลยอยากขายสิ่งนี้บ้าง อย่าลืมว่าการทำธุรกิจมีหลายเรื่องให้ต้องคิดและตัดสินใจ ความเสี่ยงที่คุณรับได้มีมากน้อยแค่ไหน และเมื่อได้ลงทุนไปแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถล้มเลิกไปได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรนั้นคุณต้องอยากทำมันจริงๆ หรือหลงใหลในธุรกิจนั้นๆ ไม่ใช่เพียงเพราะแค่สนใจ

    คุณลองถามตัวเองง่ายๆ ดูก่อนว่า คุณสามารถที่จะอยู่กับสิ่งนี้ไปได้สัก 5 ปีไหม?

    เมื่อคุณแน่ใจ ‘ความต้องการจริงๆ’ ของคุณจะทำให้คุณมีแรงต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และสามารถทำให้ดำเนินธุรกิจไปได้จนสำเร็จ

  2. ดูทำเลและสำรวจความต้องการในละแวก

    ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เรื่องทำเล คือ เรื่องที่ต้องคิดเป็นอันดับแรกๆ

    สำรวจทำเลและสำรวจความต้องการในละแวก

    ทำเลในที่นี้ก็คือ ตลาด และเมื่อเป็นตลาด สิ่งที่คุณจะต้องดูในเบื้องต้นก็มีอยู่ 2 สิ่งสำคัญด้วยกัน

    1. ความพลุกพล่านของตลาด

      ให้คุณดูว่าที่ที่คุณจะไปทำธุรกิจนั้นมีกลุ่มคนมากน้อยแค่ไหน ทำเลที่จะตั้งอยู่ในจุดที่สังเกตได้หรือเปล่า เป็นแหล่งชุมชนหรือไม่ และใกล้กับสถานที่ใดบ้าง เช่น ตลาด หอพัก โรงเรียน สถานที่ราชการ ฯลฯ ซึ่งการสำรวจตลาดยังต้องดูด้วยว่า กลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มคนประเภทไหน อันนำมาซึ่งข้อต่อไป

    2. ความต้องการของตลาด

      เมื่อแน่ใจแล้วว่า ตลาดหนาแน่นมีคนผ่านไปผ่านมามาก รู้แล้วว่าลูกค้าของคุณจะเป็นใครบ้าง และทำอะไรหรือมาทำอะไรแถวนั้น คุณจึงค่อยพิจารณาธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะเปิดอีกทีว่าเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายนั้นหรือไม่

      ยกตัวอย่างเช่น หากใกล้สถานที่ราชการที่มีคนมาติดต่อมากมาย อาจเหมาะกับเครื่องดื่มเย็นๆ หากใกล้แหล่งชุมชนระดับกลางก็จะเหมาะกับธุรกิจอาหารที่ราคาไม่สูงมาก หรือหากทำเลนั้นคือห้างกลางเมืองมีกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก อาจเลือกของหวานหรืออาหารที่เหมาะกับพวกเขา เป็นต้น

  3. ไม่ลืมสำรวจคู่แข่ง!

    ข้อนี้จะลืมไปไม่ได้เด็ดขาด อีกเรื่องที่ต้องสำรวจดูให้ดีๆ ซึ่งคุณสามารถทำไปพร้อมๆ กับการสำรวจตลาดในข้อก่อนหน้าได้เลย

    ธุรกิจแฟรนไชส์ที่คุณอยากจะทำเป็นธุรกิจประเภทใด ถ้าเป็นอาหาร เป็นอาหารประเภทไหน อาหารนั้นขายให้กลุ่มเป้าหมายใด มีราคาอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วให้คุณลองสำรวจธุรกิจในประเภทเดียวกันดูก่อน เพราะนั้นคือคู่แข่งของคุณ!

    ในกรณีที่มีคู่แข่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เช่น มีร้านขายชานมเหมือนกันอยู่ไม่ไกล ให้ดูว่าอะไรคือจุดเด่น จุดด้อย และกลุ่มเป้าหมายของเขาจริงๆ เป็นใคร เพื่อที่คุณจะได้ลองหาแบรนด์แฟรนไชส์อื่นๆ ที่น่าจะสู้ได้ หรือถ้าคู่แข่งของคุณ คือ แฟรนไชส์เดียวกันเลย คุณต้องคิดให้หนักขึ้นว่าจะลงสู้ไหม ถ้าสู้ คุณต้องมีอะไรที่เหนือเขา เพื่อแบ่งส่วนการตลาดมา เช่น โปรโมชั่น หน้าร้าน ที่นั่งในร้าน ฯลฯ

  4. ศึกษาธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆ

    สิ่งที่คุณจะต้องดูเกี่ยวกับแฟรนไชส์ที่จะเอามาลงทุนนั้น ไม่ใช่แค่รู้ว่าขายอะไร ทำอย่างไร มันยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นปัจจัยต่อความสำเร็จของธุรกิจที่ควรศึกษา เพื่อป้องกันการขาดทุนหรือล้มเหลว

    สำรวจคู่แข่ง
    1. ดูภาพลักษณ์และการตลาด (Branding & Marketing)

      เลือกดูธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีภาพลักษณ์ดี และน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภค ไม่มีประวัติร้องเรียนถึงคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์มีการลงโฆษณาและทำการตลาด ก็ยิ่งทำให้ผู้คนรู้จักและอยากซื้อของมากขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ได้ใหญ่มาก ไม่มีการโฆษณา คุณอาจดูเพียงภาพลักษณ์ของธุรกิจให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าในละแวกนั้นๆ

    2. ศึกษากระบวนการทำงาน (Operation)

      คุณทำได้ 2 วิธี และก็ควรทำทั้ง 2 วิธีด้วย ได้แก่ สอบถามกับเจ้าของแฟรนไชส์โดยตรงถึงกระบวนการทำงาน เช่น ต้องซื้อของจากเขาโดยตรงหรือไม่ ระบบการขนส่งเป็นอย่างไร ต้นทุนสินค้าต่อหน่วย ยอดขายโดยเฉลี่ยต่อสาขา กฎกติกาอื่นๆ บริการหลังการขาย ความช่วยเหลือแนวทางการพัฒนาสินค้าและธุรกิจ ฯลฯ ส่วนวิธีที่สองก็คือ สอบถามจากผู้ที่ทำแฟรนไชส์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้คุณได้ข้อมูลจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่ข้อมูลที่เจ้าของธุรกิจอยากบอกเท่านั้น

  5. อย่าลืมคิดเรื่องต้นทุน-กำไรอย่างรอบคอบและตั้งเป้าหมาย

    ต้นทุน-กำไร คือ หัวใจในการทำธุรกิจ ทุกคนที่ทำธุรกิจต่างก็อยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ผลกำไรกันทั้งสิ้น จะเลือกแฟรนไชส์มาทำจึงต้องดูสัดส่วนต้นทุน กับกำไรที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งทั้ง 4 ข้อข้างต้นจะช่วยให้คุณคาดการณ์ได้

    • ต้นทุนที่ต้องจ่ายมีอะไรบ้าง เช่น ค่าซื้อแฟรนไชส์ ค่าวัตถุดิบ ค่าเดินทาง-ขนส่ง ค่าจ้างพนักงาน ค่าแรงของตัวเอง
    • กำไรต่อหน่วยสินค้า ให้คำนวณจากต้นทุนทั้งหมดหารด้วยหน่วยสินค้าที่ทำได้ ซึ่งจริงๆ แล้วธุรกิจแฟรนไชส์จะมีข้อมูลในเบื้องต้นให้อยู่แล้ว เช่น กำไร 50% 80% หรือ 100% (แต่ต้องจำไว้ว่า ในกรณีที่ขายหมด และไม่รวมค่าซื้อแฟรนไชส์)
    • กำไรเป้าหมาย นอกจากรู้กำไรต่อหน่วยสินค้าแล้ว คุณควรที่จะตั้งเป้าหมายด้วยว่าในแต่ละเดือนอยากได้กำไรเท่าไหร่ เช่น 20,000 บาท หรือ 50,000 บาท หรือจะเป็นหลักแสนบาทก็ได้

    เมื่อรู้ทั้ง 3 สิ่งข้างต้นแล้ว ก็ให้เปลี่ยนเป็นแผนว่าในแต่ละวันจะต้องทำยอดเท่าไร

    ยกตัวอย่างเช่น

    อยากได้กำไรเดือนละ 20,000 บาทต่อเดือน ขายสินค้าได้กำไร 20 บาท/หน่วย ก็ต้องขายให้ได้เดือนละ 1,000 หน่วย ถ้าขายเป็น 24 วันต่อเดือน ต้องขายให้ได้วันละประมาณ 42 หน่วย และสมมติว่าค่าแฟรนไชส์ 60,000 บาท นั่นก็เท่ากับว่า ต้องใช้เวลาในการคืนทุน 3 เดือน

    หรือถ้าหากต้องการได้กำไรมากกว่านี้ อยากรีบคืนทุน ก็ต้องวางแผนเพื่อยอดขาย ซึ่งอาจจะเป็นเพิ่มจำนวนผู้ซื้อหรือเพิ่มยอดขายต่อผู้ซื้อ ด้วยโปรโมชั่น บัตรสะสม หรือติดป้ายโฆษณา เช็คอินFacebook ฯลฯ หรือเพิ่มสาขาก็ได้ เพียงแต่ต้องประเมินความเสี่ยงที่จะรับได้ด้วย

ไม่อยากเสียเงิน เสียแรง เสียเวลาทำแฟรนไชส์แล้วล้ม ขาดทุนยับเยิน…?

เราต้องศึกษาธุรกิจที่เอามาทำอย่างดี สำรวจตลาด ดูความต้องการ ประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจว่าจะสามารถดำเนินไปได้จนประสบความสำเร็จหรือไม่ และไม่ลืมศึกษาธุรกิจแฟรนไชส์นั้นให้ดีก่อน ทั้งเรื่องการตลาดและกระบวนการทำงาน นอกจากนี้ จะลงมือทำธุรกิจ ต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมาย

ขอให้ธุรกิจที่คุณตั้งใจจะทำเจริญรุ่งเรือง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่านะครับ

รถของคุณผ่อนหมดแล้วหรือยัง?
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น