ก่อนจะไปดูวิธีเช็คสิทธิประกันสังคม ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะต้องส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (จากเดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงร่างกฎกระทรวงเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็น จึงยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้น เงินติดล้อจึงอยากให้ทุกคนรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ มาดูวิธีตรวจสอบสิทธิประกันสังคมออนไลน์ สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมด้วยเลขบัตรประชาชนแบบออนไลน์
วิธีตรวจสอบสิทธิประกันสังคมในสมัยก่อนค่อนข้างวุ่นวายมาก เพราะผู้ประกันตนต้องไปสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่เพื่อยื่นเรื่อง หรือโทรไปที่เบอร์ 1506 ของประกันสังคม แต่ปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมด้วยเลขบัตรประชาชนได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 เช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 39 และเช็คสิทธิประกันสังคมมาตรา 40 ผ่าน 2 ช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1. ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม
ตรวจสอบสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บประกันสังคม
ขั้นตอนตรวจสอบสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม มีดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ www.sso.go.th กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน หลังจากนั้นคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ”
- หน้าเว็บไซต์ประกันสังคมจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตนว่าเป็นผู้ประกันตนมาตราอะไร เลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกดูข้อมูลต่าง ๆ ได้เลย
2. ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ผ่านแอปประกันสังคม
ขั้นตอนตรวจสอบสิทธิประกันสังคมผ่านแอปประกันสังคม มีดังนี้
- ผู้ประกันตนต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SSO Connect ได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประชาชนพร้อมรหัสผ่าน และคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ (Login)
- แอปพลิเคชันประกันสังคม SSO Connect จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน เช่น ชื่อและนามสกุล โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ยอดเงินสมทบชราภาพ และสิทธิทำฟันประกันสังคม โดยด้านล่างผู้ประกันตนสามารถเลือกเช็คสิทธิประกันสังคมที่ต้องการทราบได้เลย
สมัครสมาชิกผู้ประกันตนก่อนตรวจสอบสิทธิประกันสังคม
สำหรับเด็กจบใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเข้าระบบประกันสังคมเป็นครั้งแรก อาจจะยังไม่รู้ว่าต้องสมัครสมาชิกผู้ประกันตนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมก่อน จึงจะสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมด้วยเลขบัตรประชาชนได้ โดยวิธีสมัครสมาชิกผู้ประกันตนออนไลน์สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. เปิดเว็บประกันสังคมเพื่อสมัครสมาชิกผู้ประกันตน
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนมาตรา 40 ทุกคนต้องสมัครสมาชิกผู้ประกันตนผ่านเว็บประกันสังคม www.sso.go.th ด้วยตนเอง เพียงคลิกที่ “สมัครสมาชิก”
2. อ่านรายละเอียดข้อตกลงให้ละเอียดถี่ถ้วน
หน้าเว็บไซต์ประกันสังคม จะแสดงข้อตกลงทุกอย่างที่ผู้ประกันตนควรรู้ ให้คุณใส่เครื่องหมายถูกที่ “ฉันยอมรับข้อตกลงในการบริการ” และคลิกที่ “ถัดไป”
3. กรอกข้อมูลผู้ประกันตนให้ครบถ้วนทุกช่อง
ผู้ประกันตนต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับตนเองให้ครบทุกช่อง เพื่อให้ระบบจดจำข้อมูลส่วนตัว เมื่อกรอกเรียบร้อยแล้วให้คลิกที่ “ถัดไป”
4. ยืนยันตัวตน
ผู้ประกันตนสามารถเลือกวิธียืนยันตัวตนได้หลายวิธี จากตัวอย่างเลือกวิธียืนยันตัวตนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น เมื่อกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือแล้วคลิก “คลิกที่นี่ เพื่อขอรับรหัส OTP” หลังจากนั้นให้นำรหัส OTP ที่ส่งมาในข้อความใส่ในช่อง “รหัส” หลังจากนั้นให้คลิกที่ “ยืนยัน”
5. หากลงทะเบียนสำเร็จ เว็บประกันสังคมจะแสดงผลดังนี้
ถ้าผู้ประกันตนลงทะเบียนสำเร็จจะแสดงผลดังกล่าว หลังจากนั้นเริ่มเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชนได้เลย
7 สิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 สามารถใช้ได้
หลังจากทำการเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยบัตรประชาชนไปแล้ว ลำดับต่อไปผู้ประกันตนคงอยากรู้ว่าสามารถใช้สิทธิประกันสังคมอะไรได้บ้างในฐานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น โดนไล่ออกกะทันหัน เจ็บป่วย เสียชีวิต หรือลาคลอดบุตร จะได้รักษาสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเงินติดล้อได้รวบรวม 7 สิทธิประกันสังคมเอาไว้ให้แล้ว ดังนี้
1. สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนเจ็บป่วย โดยสามารถใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่เสียเงินสักบาท รวมไปถึงการบำบัดไต ปลูกถ่ายอวัยวะ ค่าทำฟันประกันสังคม และเงินทดแทนรายได้ขณะเจ็บป่วย
2. สิทธิประกันสังคมกรณีทุพพลภาพ
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนจะทุพพลภาพ โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ทุพพลภาพ ทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นจำนวนไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย
- ค่าอวัยวะเทียม + อุปกรณ์
- ค่าพาหนะรับ - ส่งผู้ทุพพลภาพ 500 บาทต่อเดือน
3. สิทธิประกันสังคมกรณีเสียชีวิต
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 1 เดือนภายใน 6 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าทำศพ 4,000 บาท
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
4. สิทธิประกันสังคมกรณีคลอดบุตร
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่จะคลอด โดยผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามรายละเอียด ดังนี้
- ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายไม่จำกัดจำนวนครั้ง เบิกได้ 13,000 บาทต่อครั้ง
- ผู้ประกันตนฝ่ายหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีกในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
- ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
5. สิทธิประกันสังคมกรณีชราภาพ
เงินสมทบชราภาพของประกันสังคมนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับก็ต่อเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินชราภาพ ดังนี้
- อายุครบ 55 ปี สมทบไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) ได้บำเหน็จ
- อายุครบ 55 ปี สมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป (15 ปี) ได้บำนาญ
- ถ้าค่าจ้างเกินกว่าเดือนละ 15,000 บาท สมทบไม่ครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้บำนาญเดือนละ 3,000 บาท หากส่งเกิน 180 เดือน (15 ปี) จะได้เพิ่มปีละ 225 บาท
6. สิทธิประกันสังคมกรณีเงินสงเคราะห์บุตร
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเงินสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบ 12 เดือนภายใน 36 เดือนก่อนมีบุตรจะคลอด โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเงินสงเคราะห์บุตร คือ บุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 600 บาทต่อเดือนต่อคน ครั้งละไม่เกิน 3 คน
7. สิทธิประกันสังคมกรณีเป็นคนว่างงาน
เงื่อนไขในการใช้สิทธิประกันสังคมกรณีเป็นคนว่างงาน ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบ 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่จะว่างงาน โดยเงินคนว่างงาน จะจ่ายให้กับผู้ประกันตนใน 3 กรณี คือ
- กรณีเลิกจ้าง : ได้เงินคนว่างงาน 50% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน)
- กรณีลาออก : ได้เงินคนว่างงาน 30% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน)
- เหตุสุดวิสัย : ได้เงินคนว่างงาน 50% ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน)
ไม่ได้ทำงานประจำ แต่อยากใช้สิทธิประกันสังคม ทำยังไงดี?
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ รับงานแบบฟรีแลนซ์ หรือคนไม่มีงานทำ ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพราะคุณจะถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ประกันตนมาตรา 40” ซึ่งคุณสมบัติของผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ
- อายุผู้ประกันตนต้อง 15-60 ปี
- บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม
- ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 หรือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
โดยสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทเงินสมทบที่ส่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.ส่งเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน ใช้สิทธิประกันสังคมอะไรได้บ้าง
- กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกินปีละ 30 วัน
- กรณีทุพพลภาพ ทดแทนการขาดรายได้ 500 - 1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี
- กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 20,000 บาท และได้เพิ่มอีก 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบเกิน 60 เดือน
2.ส่งเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ใช้สิทธิประกันสังคมอะไรได้บ้าง
- กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกินปีละ 30 วัน
- กรณีทุพพลภาพ ทดแทนการขาดรายได้ 500 - 1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี
- กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 20,000 บาท และได้เพิ่มอีก 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบเกิน 60 เดือน
- บำเหน็จชราภาพ 50 บาทต่อเดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน
3.ส่งเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ใช้สิทธิประกันสังคมอะไรได้บ้าง
- กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกินปีละ 90 วัน
- กรณีทุพพลภาพ ทดแทนการขาดรายได้ 500 - 1,000 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต
- กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 40,000 บาท
- บำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน
- เงินสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อเดือนต่อคน ครั้งละไม่เกิน 2 คน
เมื่อเป็นผู้ประกันมาตรา 40 แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้สมัครสมาชิกผู้ประกันตน หรืออยากเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชน สามารถใช้วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมข้างต้นได้เลยครับ
สรุป การตรวจสอบสิทธิประกันสังคมออนไลน์
สำหรับวิธีเช็คสิทธิประกันสังคมที่เราได้แนะนำไปข้างต้น จะช่วยให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถเช็คสิทธิที่คุณควรจะได้รับ เพื่อใช้สิทธิกันได้อย่างคุ้มค่าเบี้ยที่จ่ายไปในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตามอย่าลืมสมัครสมาชิกผู้ประกันตนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th ก่อนการตรวจสอบสิทธิประกันสังคมออนไลน์กันด้วยนะครับ
เมื่อทุกคนได้รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างเต็มที่ มีส่วนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก แต่ถ้าคุณมีเรื่องให้ต้องใช้เงินด่วน ที่เงินติดล้อเรามีสินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะ และสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าคุณจะมีรถประเภทไหน ก็สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินทุนสำรองฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก : e-labour, บริการประชาชนกระทรวงแรงงาน