เมื่อมีปัญหาเงินช็อต เงินไม่พอใช้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเข้าหาเงินกู้หนี้นอกระบบก่อน แทนที่จะมองหาบริษัทสินเชื่อถูกกฎหมายเพื่อที่จะได้นำเงินก้อนมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แล้วค่อยมาคิดเรื่องชำระหนี้นอกระบบในภายหลัง จนเป็นเหตุให้ต้องมาเสียค่าดอกเบี้ยก้อนโต
เงินติดล้อเข้าใจดีว่าไม่มีใครที่อยากจะเป็นหนี้นอกระบบ เราจึงได้นำประเด็นการกู้เงินนอกระบบมาพูดคุยกันในวันนี้ ใครที่กำลังเผชิญปัญหากับการเป็นหนี้เกินกำลัง หรือกำลังมองหาวิธีเคลียร์หนี้นอกระบบให้เร็วที่สุดอยู่ มาหาวิธีจัดการหนี้ไปพร้อมกันกับเราได้เลย!
สำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast เงินติดล้อมีช่องทางให้คุณได้ติดตามความรู้เกี่ยวกับการเงินสนุกสุดเพลิดเพลินแล้ว โดยใน EP.20 คิดดี ๆ ก่อนกู้นอกระบบ จุดจบไม่สวยอย่างที่คิด มีให้บริการทั้งใน Spotify และ Podbean
ผู้ดำเนินรายการ
คุณ มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร (ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมด้านการเงิน)
คุณ สกุลรัตน์ จักราช (พี่เลี้ยงการเงิน Financial Education Mentor)
อัปเดตสถานการณ์หนี้ครัวเรือน 2565
หลายคนอาจสงสัยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนเกี่ยวข้องกับหนี้เกินกำลัง หรือการเป็นหนี้นอกระบบอย่างไร ต้องบอกเลยว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะสถานการณ์หนี้ครัวเรือน 2565 จะแสดงให้เห็นสถานะการเงินของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการเป็นหนี้นอกระบบ
ธนาคารแห่งประไทย (ธปท.) ได้สรุปสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ปี 2565 ในไตรมาส 3 ว่า มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.8% สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่แยกตามวัตถุประสงค์ 2 อันดับแรกเป็น “บัตรเครดิต” และ “สินเชื่อส่วนบุคคล” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า นำไปใช้ในวัตถุประสงค์อะไร
โดยมีสินเชื่อจำนวนถึง 4.5 ล้านบัญชี (มูลค่า 0.4 ล้านล้านบาท) ที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า “หนี้เสีย” ซึ่งคาดว่าเกิดจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประไทย (ธปท.) ยังได้สรุปพฤติกรรมที่ทำให้คนติดกับหนี้ โดยพฤติกรรมอันดับแรกที่พบได้บ่อยเลยก็คือ ลูกหนี้ 1 ราย มักมีหนี้บัตรมากกว่า 3 - 4 ใบ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากความจำเป็น ความฟุ่มเฟือย หรือขาดวินัยในการใช้บัตร ซึ่งถือว่าเป็นภาระหนี้บัตรที่เยอะเกินไป ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นหนี้เกินตัวได้
หนี้เกินกำลัง…จุดเริ่มต้นของการ “กู้หนี้นอกระบบ”
สำหรับใครที่สงสัยว่าตนเองเป็นหนี้เกินกำลังอยู่หรือเปล่า สามารถสังเกตตนเองเบื้องต้นได้ด้วยหลักการที่อ้างอิงมาจากค่ามาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาระหนี้ที่จ่ายต่อเดือนไม่ควรเกิน 35% - 45% ของรายได้ ถ้าหากเกินกว่านี้จะถือว่าสูงกว่ามาตรฐาน เป็นหนี้เกินกำลัง และอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นส่วนอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถใช้หลักการนี้กับทุก ๆ คนได้ เนื่องจากแต่ละคนจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนที่มีภาระหนี้ต่อเดือน 25% ของรายได้ ก็อาจจะรู้สึกว่าจ่ายไม่ไหวแล้ว
ดังนั้นหากเราต้องการรู้ว่า ควรมีภาระหนี้เท่าไรต่อเดือนเพื่อไม่ให้เป็นหนี้เกินกำลัง เราจะต้องรู้ก่อนว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแต่ละเดือนก่อน (ไม่รวมเงินที่ต้องใช้จ่ายหนี้)
ตัวอย่างเช่น หากเรามีรายได้ 20,000 บาท รายจ่ายที่จำเป็นต่อเดือนของเราอยู่ที่ 15,000 บาท แสดงว่าภาระหนี้ต่อเดือนเราจ่ายได้ไม่เกิน 5,000 บาท หรือ 25% ของรายได้ หากเกินกว่านี้ก็แสดงว่ามีหนี้เกินกำลัง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้หนี้ดีเปลี่ยนเป็นหนี้เสีย และอาจนำไปสู่การกู้หนี้นอกระบบเพิ่มนั่นเอง
แนวทางแก้ไขหนี้เกินกำลังเพื่อไม่ให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ
เพื่อไม่ให้หนี้ที่มีอยู่พอกพูนมากไปกว่านี้จนทำให้เราจ่ายหนี้ไม่ไหว และต้องเสียเครดิตบูโร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อรถยนต์ หรือขอสินเชื่อบ้านและคอนโดในอนาคต เงินติดล้อ มีแนวทางแก้ไขหนี้เกินกำลังเพื่อไม่ให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาแนะนำ ลองนำไปปรับใช้ได้เลย
1. พิจารณารายรับและรายจ่าย
เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นหนี้เกินกำลัง หรือเป็นหนี้เกินกำลังไปแล้ว สิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือการพิจารณารายรับและรายจ่ายทั้งหมดของแต่ละเดือน หลังจากนั้นให้ดูว่า มีรายจ่ายไหนที่เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นบ้าง เช่น การใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย หรือค่าบริการสตรีมมิ่ง (Streaming) รายเดือน และให้ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด แล้วดูว่ามีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ไหม
2. มองหารายรับ หรือรายได้เพิ่ม
ถ้าหากยังมีเงินไม่เพียงพอกับการชำระหนี้รายเดือน แสดงว่ารายรับเพียงทางเดียวไม่เพียงพอ คุณจำเป็นที่จะต้องมองหาอาชีพที่สอง อาชีพที่สาม เพื่อหารายรับอื่น ๆ เพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น การขายของออนไลน์ หรือหางานในเว็บฟรีแลนซ์ก็ได้
3. เจรจาต่อรองกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ให้สามารถจ่ายไหว
หากการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และการหารายได้อื่น ๆ เพิ่มเติมไม่สามารถทำได้ หรือทำได้แล้ว แต่ภาระหนี้ต่อเดือนก็ยังเกินกำลังอยู่ สิ่งต่อไปที่สามารถทำได้ก็คือการ “ปรับลดภาระหนี้ต่อเดือน”
ขั้นตอนการปรับลดภาระหนี้ต่อเดือนนั้น ให้ไปเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอลดยอดผ่อนต่อเดือนน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้ภาระหนี้ต่อเดือนลดลงจนเราสามารถจ่ายไหว และมีสภาพการเงินที่คล่องตัวขึ้น
4. ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน
หากไม่สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ หรือทำรีไฟแนนซ์ได้ วิธีสุดท้ายที่คุณสามารถทำได้ก็คือการขอความช่วยเหลือจากหน่วยต่าง ๆ ให้เป็นคนกลางในการเจรจาต่อรอง เช่น
- ทางด่วนแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับหนี้ในระบบประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) สินเชื่อเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease) โดยจะทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรอง
- มหกรรมรวมใจแก้หนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีประกาศเป็นระยะ ๆ สำหรับสินเชื่อทุกประเภท โดยล่าสุดปิดรับลงทะเบียนถึง 31 มกราคม 66 และรับเรื่องโต้แย้งถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 66
- คลินิกแก้หนี้ SAM สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล แต่จะต้องเป็นสถานะหนี้เสีย (NPL) คือ มียอดค้างชำระตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป โดยจะเปิดเป็นรอบๆ โดยในตอนนี้หากใครมีหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันก่อนวันที่ 30 กันยายน 65 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้เลยที่ https://www.debtclinicbysam.com/
จะต้องทำอย่างไรเมื่อเข้าสู่วงจรกู้หนี้นอกระบบไปแล้ว?
สำหรับใครที่ได้เข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบไปแล้วก็ไม่เป็นไร ขอเพียงคุณใจเย็น ๆ และจัดการหนี้นอกระบบตามวิธีเคลียร์หนี้นอกระบบต่อไปนี้ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ทางการเงินของคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยสิ่งที่ต้องทำเมื่อเป็นหนี้นอกระบบ มีดังนี้
- แจ้งให้ครอบครัวทราบถึงจำนวนหนี้นอกระบบ เพื่อที่จะช่วยกันหาแนวทางแก้ไข
- หาความรู้ หรือปรึกษาคนที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน และเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับหนี้ เช่น มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้
- เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยอาจเล่าปัญหาของเราให้เขาฟังไปก่อน ถึงแม้จะได้ หรือไม่ได้ก็ตาม เพราะดีกว่าไม่บอกให้เขารู้เลย และถ้าเจ้าหนี้เข้าใจก็อาจจะอนุโลมให้เราขอลดดอกเบี้ย หรือขอผ่อนต้นรวมดอกเบี้ยด้วยก็ได้
- หากได้เงินก้อนอย่างเช่นเงินโบนัส หรือได้เงินจากรายได้เสริมอื่น ๆ มา (ต้องไม่ใช้การกู้หนี้มาจ่ายหนี้) ให้จ่ายโปะเงินต้น เพื่อที่จะปิดหนี้ให้เร็วที่สุด
- มองดูสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือมีจนเกินความจำเป็น เช่น มีรถ 2 คัน คันแรกไว้ไปทำงาน คันที่ 2 ไว้ไปตลาด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบเจอได้บ่อยมาก ให้นำรถคันหนึ่งไปเปลี่ยนเป็นเงินและนำไปปิดหนี้นอกระบบได้
- ไม่กู้หนี้เพิ่มโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเป็นหนี้เกินกำลัง
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเป็นหนี้เกินตัวและหนี้นอกระบบ
สิ่งที่ไม่ควรทำเลยเมื่อเป็นหนี้เกินตัว หรือเป็นหนี้นอกระบบ นั่นก็คือการกู้หนี้เพิ่ม เพราะยิ่งเรากู้หนี้เพิ่มมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้เพิ่มภาระชำระหนี้ต่อเดือนมากเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้การจัดการหนี้ตามวิธีเคลียร์หนี้นอกระบบ หรือแนวทางแก้ไขหนี้เกินกำลังทำได้ยากขึ้น
สรุป
จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้เกินตัวส่วนใหญ่ล้วนมาจากการจัดการด้านการเงินที่ไม่ดีพอ ใช้จ่ายบัตรเครดิตเกินรายรับต่อเดือน หรือมีบัตรเครดิตหลายใบ ถ้าหากคุณไม่อยากเป็นหนี้เกินตัวจนนำไปสู่การเป็นหนี้เสีย หรือกู้หนี้นอกระบบ ก็ควรที่จะคิดให้ดีก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง ไม่ควรใช้จ่ายเกินรายรับที่หาได้ในแต่ละเดือน และเมื่อเป็นหนี้เกินตัวแล้ว ก็ควรที่จะรีบแก้ไขตามแนวทางที่เราได้แนะนำไปตั้งแต่เนิ่น ๆ และหยุดกู้หนี้เพิ่มก็จะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานโครงการคลินิกแก้หนี้, สำนักข่าวไทย