“ผมเป็นพ่อค้าขายของในตลาดมาหลายปี เมื่อก่อนขายดีนับเงินมือเป็นระวิง แต่ช่วงหลังๆ ตลาดเงียบเหงา เฮ้อออออ มีของเต็มร้านแต่ขายไม่ออก ทำให้ผมตกอยู่ในภาวะเงินหมุนไม่ทัน ต้องหันหน้าพึ่งคนอื่นเพื่อกู้เงิน ว่าแต่ผมจะไปกู้เงินที่ไหนดีล่ะ? จะให้ไปกู้เงินนอกระบบมาทำทุนขายของ ผมก็ไม่กล้า ถึงจะได้เงินเร็วได้เงินง่าย ไม่ต้องมีเอกสารอะไรเลยก็ตาม แต่เพราะผมเคยเห็นเพื่อนโดนเจ้าหนี้นอกระบบทวงหนี้แบบรุนแรง ผมก็เลยกลัว สุดท้ายผมเลยหันไปพึ่งสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือดีกว่า เพราะมีหลักฐานการกู้ยืมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาการกู้เงินและใบเสร็จรับเงิน ในฐานะลูกหนี้เหมือนกัน ผมเลยอยากมาแชร์ให้รู้กันว่าถึงเราจะเป็นลูกหนี้ เราก็ยังมีสิทธิต่างๆ เหมือนกันนะ”
สิทธิ์ที่ลูกหนี้ควรรู้
-
สิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
เพราะเรื่องการเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจก่อนจะกู้เงิน และเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องไม่บิดเบือน อาทิ อัตราดอกเบี้ย ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับที่อาจเกิดขึ้น ข้อผูกพันตามสัญญา และสถาบันการเงินต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ตามช่องทางให้บริการต่างๆ ให้ลูกค้าสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ อาทิ ช่องทางออนไลน์ สาขา หรือช่องทางลูกค้าสัมพันธ์
ทั้งนี้หากสถาบันการเงินให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน บังคับขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือคิดค่าบริการอื่นๆ เพิ่มโดยไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามที่ระบุในสัญญา ให้รีบแจ้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนของสถาบันการเงินนั้นช่วยแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีหลักฐานที่แสดงว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไว้แล้ว พร้อมแจ้งผลดำเนินการให้ทราบในเวลาที่เหมาะสม หากไม่ได้รับการติดตามแก้ไขปัญหา สามารถร้องเรียนขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนอื่นๆ
-
สิทธิ์ที่จะได้รับสัญญาการกู้ยืมเงินและใบเสร็จรับเงิน
การกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ลูกหนี้จะได้รับ “สัญญาการกู้ยืมเงิน” ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนแบบตรงไปตรงมา เป็นสัญญาที่มีเนื้อหาตรงกัน 2 ฉบับ เพื่อให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เก็บไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ ซึ่งในสัญญาจะต้องมีข้อมูลเหล่านี้
- ชื่อที่อยู่ของเรา (ลูกหนี้) กับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ (เจ้าหนี้)
- วันที่ขอกู้เงิน จำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ระยะเวลาการกู้ยืม
- รายละเอียดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงหนี้
-
สิทธิ์การถูกทวงหนี้ที่ปลอดภัย
เมื่อลูกหนี้หมุนเงินไม่ทัน ไม่มีผ่อนชำระ หรือจ่ายเกินเวลาบ้าง เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะติดตามหนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีสิทธิทำเหมือนกลุ่มทวงหนี้หมวกกันน็อค ที่จะทวงหนี้โหดด้วยการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ทำลายข้าวของ หรือทำให้อับอาย ใช้คำพูดหยาบคาย รวมไปถึงการทวงหนี้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้
ตอนนี้ได้มี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้มากขึ้น ที่สำคัญยังเขียนบทลงโทษเจ้าหนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าทวงหนี้โหดจะต้องถูกจำคุกและปรับเงินเท่าไหร่บ้าง หลังจากนี้หากใครยังเจอกลุ่มทวงหนี้ที่กระทำเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด ก็สามารถร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดให้มาจัดการได้เลยครับ
ข้อมูลอ้างอิงจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย