หลายคนอาจมีค่าใช้จ่ายเร่งด่วนจนทำให้จ่ายค่างวดไม่ตรงตามกำหนด ส่งผลให้ต้องมาทยอยจ่ายสินเชื่อทีละนิดเรื่อย ๆ ตามหลัง แม้ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การทยอยจ่ายมีผลกระทบต่อการเงินและประวัติของคุณ วันนี้เงินติดล้อจะมาบอกผลเสียของการทยอยจ่ายสินเชื่อ พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันปัญหานี้กัน
ก่อนอื่นมาดูกันว่า การจ่ายโปะสินเชื่อคืออะไร? มีกี่แบบ? แตกต่างกับการทยอยจ่ายอย่างไร?
การโปะสินเชื่อคืออะไร
การโปะสินเชื่อ หรือที่เรียกว่า "โปะหนี้" คือการจ่ายเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่างวดปกติ เพื่อลดยอดหนี้ให้หมดเร็วขึ้น ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับสินเชื่อสัญญาแบบลดต้นลดดอก ที่ดอกเบี้ยจะคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือที่ทยอยลดลงจากงวดก่อนหน้า ยิ่งโปะเยอะ เงินต้นก็จะทยอยลดลง ทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายน้อยลงตามไปด้วย
แต่ต้องทำให้ถูกเวลา เพราะการโปะสินเชื่อแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
จ่ายโปะสินเชื่อก่อนวัดตัดยอด
การจ่ายโปะสินเชื่อก่อนวันตัดยอด เงินที่จ่ายเพิ่มจะถูกนำไปหักเงินต้นโดยตรง ทำให้ดอกเบี้ยในงวดถัดไปลดลง เช่น วันกำหนดชำระ คือวันที่ 5 ของเดือน แต่จ่ายโปะหนี้ในวันที่ 1 ยอดเงินที่จ่ายเกินเข้ามา จะนำไปตัดเงินต้นให้ เมื่อเงินต้นลด ดอกเบี้ยในงวดถัดไปก็จะลดลง
จ่ายโปะสินเชื่อหลังวันตัดยอด
หากคุณจ่ายโปะสินเชื่อหลังวันตัดยอด และไม่อยู่ในวันที่บริษัทกำหนดไว้สำหรับการจ่ายโปะหนี้เพื่อตัดยอด มักเกิดขึ้นเวลาจ่ายค่างวดสินเชื่อ หรือการจ่ายหนี้บัตรเครดิตไม่ไหว ซึ่งเงินที่จ่ายโปะเข้ามาจะถูกหักดอกเบี้ยหลังวันตัดยอด หรือดอกเบี้ยคงค้างก่อน แล้วค่อยเอาที่เหลือไปหักต้น ส่งผลให้เงินต้นลดน้อยลงมากนั่นเอง
การทยอยจ่ายหนี้ คืออะไร
การทยอยจ่ายหนี้ หรือที่เรียกว่า “ผ่อนชำระ” คือ การที่ลูกหนี้ชำระเงินคืนกับสถาบันการเงินตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจแบ่งเป็นการชำระขั้นต่ำ หรือแบ่งออกเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น รายเดือน ราย 3 เดือน หรือรายปี จนกว่าจะชำระหนี้หมด
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทยอยจ่ายหนี้
มีหลายคนที่เข้าใจว่า การทยอยจ่ายหนี้ในแต่ละเดือน เท่ากับว่าได้ชำระค่างวดให้กับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการสินเชื่อแล้ว แม้ว่าจะจ่ายไม่ครบค่างวด ก็ไม่น่าจะมีความผิดอะไร ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะในกรณีที่การขอสินเชื่อมีการแบ่งค่างวดชัดเจน ไม่ได้มีการกำหนดยอดชำระขั้นต่ำ ถ้าลูกหนี้ชำระค่างวดไม่ครบ ต่อให้มีการทยอยจ่ายเข้ามาทุกเดือน ก็หมายถึงการผิดนัดชำระอยู่ดี ซึ่งจะส่งผลเสียต่าง ๆ ตามมามากมาย
ผลเสียของการทยอยจ่ายหนี้ แต่จ่ายค่างวดไม่ครบ
หลายคนอาจคิดว่า การทยอยจ่ายหนี้หลังวันตัดยอดไปแล้ว แม้จะจ่ายไม่ทันกำหนด ก็ยังดีกว่าไม่จ่ายเลย แต่ความจริงแล้ว การทยอยโปะเรื่อย ๆ แต่จ่ายไม่ครบ ส่งผลเสียมากกว่าที่คิด มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ต้องเข้าใจก่อนว่า ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เป็นการคำนวณดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นคงเหลือในแต่ละวัน ดังนั้นหากผิดนัดชำระ หรือจ่ายล่าช้า ดอกเบี้ยก็จะถูกคิดจากยอดเงินต้นคงเหลือไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่ระบุในสัญญา
เงินต้นไม่ลด
อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ยิ่งทยอยโปะทีละนิด แต่ไม่ครบสักที ดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงขึ้น เงินที่จ่ายเข้ามาเมื่อนำไปหักดอกเบี้ย ก็อาจส่งผลให้เงินต้นแทบไม่ลดลงเลย การที่เงินต้นไม่ลดนั่นแปลว่า คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นในระยะยาว หรือปิดหนี้ช้าขึ้น
เสียค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
สถาบันการเงิน หรือบริษัทส่วนใหญ่มักมีการคิดค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับการจ่ายเงินไม่ครบหรือล่าช้า โดยแต่ละบริษัทก็จะมีอัตราแตกต่างกันไป ถึงแม้ว่า จะเป็นยอดเงินแค่หลักร้อย แต่หากถูกทบไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
คะแนนเครดิตของลูกหนี้แย่ลง
หากค้างชำระค่างวดเกิน 90 วันขึ้นไป จะถูกขึ้นสถานะในเครดิตบูโร 020 หรือ 20 ซึ่งมีความหมายว่า มีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน และเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) ส่งผลให้ลูกหนี้สูญเสียความน่าเชื่อถือในด้านความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้ไป และเมื่อไปทำธุรกรรมการเงิน เช่น กู้ซื้อรถ กู้ซื้อบ้าน รีไฟแนนซ์บ้าน หรือรีไฟแนนซ์รถ แล้วสถาบันการเงินขอเช็กข้อมูลตรงนี้ ก็อาจมีโอกาสปฏิเสธการให้สินเชื่อกับคุณได้
วิธีป้องกันปัญหาจ่ายหนี้ไม่ไหว
ไม่อยากเจอผลเสียตามา เงินติดล้อมีวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยป้องกันและจัดการปัญหานี้ได้
1. วางแผนการเงินอย่างรอบคอบ
เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เห็นภาพรวมทางการเงิน จากนั้นเตรียมเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้ดี แบ่งสัดส่วน ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่าย แยกกับค่าผ่อนหนี้ หากไม่พอต้องหาช่องทางในการเพิ่มรายได้
2. มีเงินเหลือให้รีบโปะ
หากคุณมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายในแต่ละเดือน แทนที่จะเก็บไว้เฉย ๆ ลองนำมาโปะสินเชื่อดูสิ ยิ่งโปะมากเท่าไหร่ หนี้ยิ่งหมดไวมากเท่านั้น และอาจจะทำให้คุณปิดยอดกู้ได้ไวกว่ากำหนดด้วย แต่อย่าลืมว่าต้องโปะก่อนวันตัดยอดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3. รู้ตัวว่าจ่ายหนี้ไม่ไหวให้รีบเจรจา
เมื่อรู้ตัวว่า จ่ายหนี้ไม่ไหว ให้เจรจากับเจ้าหนี้โดยตรงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ และขอประนอมหนี้ เช่น ขอพักจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ขอลดอัตราดอกเบี้ย หรือขอหยุดการคิดอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว เป็นต้น
สรุป การทยอยจ่ายหนี้ แต่ไม่ครบค่างวด ดอกเบี้ยเพิ่ม เงินต้นไม่ลด เสี่ยงติดเครดิตบูโร
การทยอยจ่ายหนี้ แต่จ่ายไม่ครบหรือไม่ไหวส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ทั้งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินต้นลดลงน้อย เสียค่าปรับ และความเสี่ยงในการติดเครดิตบูโร ดังนั้นการชำระหนี้ตรงเวลาจึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด แต่หากมีสัญญาณว่าจะไปต่อไม่ไหว อย่าลังเลที่จะปรึกษากับบริษัทที่ให้สินเชื่อหรือเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
สุดท้ายนี้ หากมีเรื่องจำเป็นให้ต้องใช้เงินฉุกเฉิน นำรถมอเตอร์ไซค์มาเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้กับสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ที่เงินติดล้อ พิเศษสุด ๆ สำหรับลูกหนี้ชำระดี เพียงแค่จ่ายตรงเวลา ก็รับเงินคืนในรูปแบบส่วนลดดอกเบี้ยพิเศษในงวดนั้น ๆ ได้เลย