สำหรับใครที่เป็นพนักงานประจำต่างก็ต้องรู้จักกับประกันสังคมอย่างแน่นอน เพราะในทุก ๆ เดือนส่วนหนึ่งของเงินเดือนจะถูกหักออกไปเป็นเงินประกันสังคมนั่นเอง แต่สงสัยกันหรือไม่ว่าเงินที่ถูกหักออกไปนั้น ถูกนำไปใช้เพื่ออะไร และให้สิทธิอะไรแก่เราบ้างนะ?
มาดูกันว่าเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปในทุก ๆ เดือนนั้น ให้สิทธิพิเศษและการคุ้มครองใดกับเราบ้าง หาคำตอบได้ภายในบทความนี้เลยครับ!
ไขข้องสงสัย! เงินประกันสังคมที่จ่ายไป มอบสิทธิพิเศษอะไรแก่เราบ้าง
มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเงินประกันสังคมที่ถูกหักไปนั้น มีไว้เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองจากรัฐบาลเพื่อสร้างมั่นคงให้กับประชาชน โดยจะหักเป็นจำนวนทั้งหมด 5% ของเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
จำนวนเงินที่จ่ายไป 750 บาทนั้น จะถุกแบ่งออกเป็น 3 สิทธิคุ้มครอง ได้แก่
- ส่วนที่ 1: 225 บาท จะถูกนำไปคุ้มครองในแง่ของสุขภาพ การคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต แต่ถ้าสิทธินี้ไม่เคยถูกใช้ เงินจำนวนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้รับคืน
- ส่วนที่ 2: 75 บาท จะถูกนำมาใช้เป็นเงินสมทบกรณีว่างงาน หรือตกงาน แต่ถ้าสิทธินี้ไม่เคยถูกใช้ เงินจำนวนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้รับคืนเช่นเดียวกัน
- ส่วนที่ 3: 450 บาท จะถูกเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ หรือเรียกว่า “กองทุนชราภาพ” โดยจะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี
ซึ่งแต่ละสิทธินั้นมีรายละเอียดการคุ้มครองด้วยกัน ดังนี้
สิทธิคุ้มครองด้านสุขภาพ
-
กรณีเจ็บป่วย
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
คุ้มครองกรณีเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา รวมถึงค่าอุปกรณ์การบำบัดรักษาโรค บริการด้านทันตกรรม การปลูกถ่ายไขกระดูก เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา และเงินทดแทนขาดรายได้ขณะเจ็บป่วยอีกด้วย
-
เบิกค่าคลอดบุตร
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายได้ 13,000 บาทต่อการคลอด 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) สามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
-
เงินสมทบกรณีทุพพลภาพ
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพ
สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง (เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ) และได้รับเงินทดแทนขาดรายได้เป็นอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างเฉลี่ยในทุก ๆ เดือนตลอดชีวิต
รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ทุพพลภาพ ทั้งร่างกาย จิตใจ เป็นจำนวนไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย ค่าอวัยวะเทียม อุปกรณ์ และค่าพาหนะเดินทางรับ - ส่งผู้ทุพพลภาพ 500 บาทต่อเดือน
-
เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์จากการเสียชีวิตเป็นจำนวนดังนี้
- กรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
- กรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
เงินสมทบกรณีว่างงาน
-
กรณีถูกเลิกจ้าง
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนถูกเลิกจ้าง โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th
ได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วันต่อปี
-
กรณีลาออก
เงื่อนไข: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนลาออก โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th
ได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันต่อปี
กองทุนชราภาพ
เงินสมทบที่ได้รับจากกองทุนชราภาพนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 4 กรณีตามแต่จำนวนเดือนที่ได้ทำการจ่ายเงินประกันสังคม โดยแต่ละกรณีจะมีรายละเอียดดังนี้
- กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน: ได้รับบำเหน็จชราภาพคืนตามจำนวนที่จ่ายจริง
- กรณีที่จ่ายเงินสมทบเกิน 12 เดือนแต่ไม่ถึง 180 เดือน: ได้รับบำเหน็จชราภาพตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบมาให้ด้วย
- กรณีที่จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน: ได้รับบำนาญชราภาพคืนในทุก ๆ เดือน เป็นจำนวนเท่ากับอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ยกตัวอย่างเช่น 60 เดือนสุดท้ายได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญร้อยละ 20 หรือเท่ากับ 4,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต
- กรณีที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน: ได้รับบำนาญชราภาพคืนในทุก ๆ เดือน เป็นจำนวนเท่ากับอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย บวกเพิ่มอีก 1.5% ต่อปีจากส่วนที่เกินมา
ยกตัวอย่างเช่น 60 เดือนสุดท้ายได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญร้อยละ 20 หรือเท่ากับ 4,000 บาท บวกเพิ่มอีก 1.5% ต่อปี หากผู้ประกันตนจ่ายเพิ่มอีก 5 ปี (1.5% x 20,000 บาท x 5 ปี = 1,500 บาท)
เท่ากับว่าผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญชราภาพเป็นจำนวน 5,500 บาทต่อเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต
หมายเหตุ: หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อน แต่ได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพยังไม่ถึง 60 เดือน (5 ปี) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญที่ได้รับเป็นงวดล่าสุด (เช่น งวดล่าสุดได้รับมา 6,000 บาท จะได้รับเงิน 60,000 บาท)
สรุป
เพียงเท่านี้หลาย ๆ คนคงทราบถึงประโยชน์ของเงินประกันสังคมที่เรานั้นจ่ายไปทุก ๆ เดือนแล้วว่าไม่ได้สูญเปล่าอย่างแน่นอน แต่เป็นสิทธิในการประกันตนพื้นฐานที่ทุก ๆ คนควรมี เพื่อป้องกันการเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายฉุกเฉิน รวมไปถึงการใช้ชีวิตในยามที่เราแก่เกษียณ ช่วยให้คุณหมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
แต่นอกเหนือจากประกันสังคมที่เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานแล้ว อย่าลืมใส่ใจความปลอดภัยบนท้องถนนจากอีกหนึ่งประกันจากรัฐบาล นั่นก็คือ พ.ร.บ. รถยนต์นั่นเองครับ
เลือกช่องทางที่ง่ายกว่า ด้วยการต่อ พ.ร.บ. ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “เงินติดล้อ” จัดการได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก เพียง 5 ขั้นตอน ไม่เกิน 5 นาทีรถของคุณก็สามารถต่อ พ.ร.บ. ใหม่เอี่ยมได้เรียบร้อย!