การวางแผนภาษีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกคน เพราะการรู้ว่า รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี? และมีสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง? จะช่วยให้คุณวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และอาจได้เงินคืนภาษีกลับมาเป็นเงินก้อนในช่วงต้นปีด้วย เงินติดล้อจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการคำนวณภาษี พร้อมเช็กลิสต์สิทธิลดหย่อนมาให้ครบจบในที่เดียวครับ
รายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี
คุณจะต้องรู้ก่อนว่า รายได้เท่าไหร่ต้องยื่นภาษี เพื่อที่จะได้ไม่พลาดการยื่นภาษีจนทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง โดยคนไทยที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 10,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน แต่การที่ต้องยื่นภาษีไม่ได้หมายความว่า จะต้องเสียภาษีเสมอไป เพราะผู้ที่มีเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนแล้วไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
เงินได้สุทธิคืออะไร? เงินได้สุทธิก็คือจำนวนเงินที่เหลือหลังจากนำรายได้ทั้งปีมาหักลบกับค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวเลขสุดท้ายที่นำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได ดังนั้น การรู้จักใช้สิทธิลดหย่อนให้เป็นจึงมีผลอย่างมากต่อจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายครับ
สิทธิลดหย่อนภาษีเบื้องต้นที่ทุกคนต้องมี
มนุษย์เงินเดือนทุกคนมีสิทธิลดหย่อนภาษีพื้นฐานที่ควรทราบ ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าประกันสังคม 9,000 บาท และค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท เมื่อรวมกันแล้ว จะช่วยลดภาระภาษีได้ถึง 169,000 บาท ดังนั้นหากคุณมีเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนพื้นฐานแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง
ตารางอัตราภาษีตามขั้นบันได
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันใช้ระบบขั้นภาษีบันได ซึ่งอัตราภาษียิ่งสูงขึ้นตามจำนวนเงินได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
เงินได้สุทธิ (บาท)
|
อัตราภาษี
|
ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้
|
ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
|
0 - 150,000
|
ยกเว้น
|
ยกเว้น
|
0
|
150,001 - 300,000
|
5%
|
7,500
|
7,500
|
300,001 - 500,000
|
10%
|
20,000
|
27,500
|
500,001 - 750,000
|
15%
|
37,500
|
65,000
|
750,001 - 1,000,000
|
20%
|
50,000
|
111,500
|
1,000,001 - 2,000,000
|
25%
|
250,000
|
365,000
|
2,000,001 - 5,000,000
|
30%
|
900,000
|
1,265,000
|
5,000,001 บาทขึ้นไป
|
35%
|
-
|
-
|
เงินเดือนเท่านี้ เสียภาษีเท่าไหร่ คำนวณง่ายๆ ด้วยวิธีนี้ได้เลย
หลายคนอาจสงสัยว่า เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี และต้องจ่ายเท่าไหร่ เรามาดูวิธีคำนวณกันแบบง่ายๆ โดยเริ่มจากการหาเงินได้สุทธิกันก่อนครับ
- สูตรคำนวณเงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปี - ค่าลดหย่อนส่วนตัว - ค่าประกันสังคม - ค่าใช้จ่ายแบบเหมา (ถ้ามีค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ ก็สามารถนำมาลบในขั้นตอนนี้ได้เลย)
- เมื่อได้เงินได้สุทธิแล้ว ให้นำไปคำนวณภาษีต่อ โดยใช้สูตร [(เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดขั้นก่อนหน้า) X อัตราภาษี] + ภาษีสะสมขั้นก่อนหน้า ก็จะได้จำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายนั่นเอง
ยกตัวอย่างการคำนวณภาษี
หากนายสมชาย มีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 700,000 บาท และมีสิทธิลดหย่อนภาษีเบื้องต้นเท่านั้น ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ค่าประกันสังคม 9,000 บาท และค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท นายสมชายจะต้องเสียภาษีดังนี้
- เงินได้สุทธิ = 700,000 - 60,000 - 9,000 - 100,000 = 531,000 บาท
- เงินได้สุทธิ 531,000 บาท อยู่ในขั้นอัตราภาษี 15% และมีภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้าที่ 27,500 บาท
- นายสมชายจะต้องจ่ายภาษี = [(531,000 - 500,000) X 15%] + 27,500 = 32,150 บาท นั่นเอง
สิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ ที่ควรศึกษาไว้
จากตัวอย่างจะเห็นว่า การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบื้องต้นอย่างเดียว อาจทำให้คุณต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูง การรู้จักสิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ จะช่วยลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ซึ่งเงินติดล้อได้รวบรวมสิทธิลดหย่อนภาษีที่สำคัญมาให้แล้วครับ
หมวดส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (เฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนและไม่มีรายได้)
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท โดยหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน (ถ้าบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท)
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (รวมพ่อแม่ของคู่สมรสได้) สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
- ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน
หมวดประกันและการลงทุน
- เบี้ยประกันชีวิตและสะสมทรัพย์ ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
- กองทุน RMF ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท
- กองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท
- กองทุน PVD/กบข. ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุด 500,000 บาท
- เบี้ยประกันบำนาญ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุด 200,000 บาท
หมวดเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา และสาธารณะ ลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคพรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท
หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ
- Easy E-Receipt ไม่เกิน 50,000 บาท
- ดอกเบี้ยกู้ยืมที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท
สามารถยื่นภาษีได้เมื่อไหร่ และยื่นที่ไหนได้บ้าง
สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2567 สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568 โดยยื่นได้หลายช่องทาง เช่น สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่ทำการไปรษณีย์ แต่ที่สะดวกที่สุดคือยื่นออนไลน์ผ่านระบบ Digital MyTax ที่เว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/ ซึ่งสามารถยื่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง และระบบจะช่วยคำนวณภาษีให้อัตโนมัติครับ
สรุป เช็กรายได้ที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ต้นปีง่ายๆ แค่คำนวณให้เป็น
การรู้ว่ารายได้เท่าไหร่ต้องเสียภาษี และรู้จักใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้คุณวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น เพียงเริ่มจากการคำนวณเงินได้สุทธิ แล้วนำไปเทียบกับตารางอัตราภาษี พร้อมศึกษาสิทธิลดหย่อนที่คุณมี ก็จะช่วยให้คุณประหยัดภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับใครที่กำลังมองหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในช่วงต้นปี สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์จากเงินติดล้อ อาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้คุณได้ เพียงใช้เล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างปลอดภัยครับ