นอกจากการลงทะเบียนคนว่างงานจะเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่โดดเด่นของผู้ประกันตนแล้ว เงินประกันสังคมชราภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งในสวัสดิการสำคัญที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตวัยเกษียณ เงินชราภาพส่วนนี้เป็นหนึ่งในวิธีเก็บเงินที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานหรือสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างวินัยการออมเงินในระยะยาวให้กับผู้ประกันตนทุกคนด้วย
วิธีเช็คยอดเงินชราภาพประกันสังคม
สำหรับวิธีเช็คเงินบํานาญประกันสังคมมาตรา 33 และวิธีเช็คเงินบํานาญประกันสังคมมาตรา 39 สามารถเช็คผ่านเว็บไซต์ของประกันสังคมได้ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ sso.go.th/wpr/
- เลือก ‘ผู้ประกันตน’
- ถ้าไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน เลือก ‘สมัครสมาชิก’
- เข้าสู่ระบบด้วยการกรอก ‘เลขบัตรประจำตัวประชาชน’ และ ‘รหัสผ่าน’
- เข้าสู่หน้าตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน เลือก ‘ข้อมูลการส่งเงินสมทบ’
- จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลของแต่ละคน ทั้งงวดเงินสมทบ, วันที่ชำระเงิน, % เงินสมทบ และจำนวนเงินที่ผู้ประกันตนนำส่ง
- สำหรับการเช็คยอดเงินชราภาพประกันสังคม เลือก ‘การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ’
- จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตน, จำนวนเงินสมทบของนายจ้าง, จำนวนเงินสมทบของรัฐ, ยอดเงินรวม (รายปี)
เอกสารที่ต้องเตรียมขอรับเงินชราภาพประกันสังคม
เมื่อเช็คสิทธิประกันสังคมชราภาพเป็นไปตามเงื่อนไข สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด พร้อมเตรียมเอกสาร ดังนี้
- บัตรประชาชนตัวจริง
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส. 2-01)
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ สำหรับรับโอนเงินชราภาพประกันสังคม
- สำหรับผู้ที่มีบัญชีพร้อมเพย์ที่ใช้เลขบัตรประชาชนผูกกับบัญชีออมทรัพย์ สามารถแจ้งขอรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ได้ โดยไม่ต้องใช้สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (สำหรับบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์จะไม่สามารถใช้ได้)
ประกันสังคมชราภาพมาตรา 33 และมาตรา 39 ต่างกันยังไง
ความแตกต่างระหว่างเงินชราภาพประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีดังนี้
- มาตรา 33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- มาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือนคงที่ที่ 4,800 บาท
- มาตรา 33 ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ไม่เกิน 15,000 บาท) ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ ก่อนสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
- มาตรา 39 ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้างคงที่ 4,800 บาท
ทั้งมาตรา 33 และ 39 ต้องจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จึงจะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ ถ้าจ่ายไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จแทน โดยผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ สามารถเลือกขอรับเป็นบำเหน็จ หรือเงินก้อนแทนได้
สรุปคือ มาตรา 33 จะได้รับเงินชราภาพที่คำนวณจากฐานเงินเดือนจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่มาตรา 39 จะได้รับเงินชราภาพคำนวณจากฐานเงินเดือนคงที่ 4,800 บาท ทำให้ผู้ประกันตนทั้งสองมาตราได้รับเงินชราภาพไม่เท่ากัน
เงื่อนไขเงินบำนาญชราภาพ
กรณีเงินบำนาญชราภาพ เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2565 มีเงื่อนไขดังนี้
- ถ้าจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยจ่ายให้ในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้าง เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท) ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ จากอัตรา 20% เพิ่มขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่รับบำนาญชราภาพ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
- กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตาย ถ้าบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน
- ให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ และรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว และจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
เงื่อนไขเงินบำเหน็จชราภาพ
กรณีบำเหน็จชราภาพจะเป็นการจ่ายครั้งเดียว มีเงื่อนไขดังนี้
- ถ้าจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
- ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพประกันสังคม
ในขั้นตอนการเช็คยอดเงินชราภาพประกันสังคมข้างต้น ระบบจะทำการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพของแต่ละคนมาให้แบบอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่ต้องการคำนวณด้วยตัวเอง จะแบ่งวิธีคำนวณเป็น 2 กรณี ดังนี้
- กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้าง เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท คำนวณได้ดังนี้
20 x 15,000 / 100 = 3,000 บาท ต่อเดือน
- กรณีจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพจากอัตรา 20% เพิ่มขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน คำนวณได้ดังนี้
[20 + (1.5 x จำนวนปีที่จ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปีขึ้นไป)] x 15,000 / 100
*ตัวอย่างการคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท
ระยะเวลาที่ส่ง
เงินสมทบ (ปี)
|
เงินบำนาญที่จะได้รับ
|
ร้อยละของค่าจ้าง
เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (%)
|
จำนวนเงินบำนาญ
ที่จะได้รับ (บาท/เดือน)
|
15 - 20 ปี
|
20.00 - 27.50
|
3,000 - 4,125
|
21 - 25 ปี
|
29.00 - 35.00
|
4,350 - 5,250
|
26 - 30 ปี
|
36.50 - 42.50
|
5,475 - 6,375
|
31 - 35 ปี
|
44.00 - 50.00
|
6,600 - 7,500
|
สรุป การเช็คยอดเงินชราภาพประกันสังคมมาตรา 33 และ 39
สำหรับการเก็บเงินชราภาพประกันสังคม เริ่มมีมาตั้งแต่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ดังนั้น อย่าลืมเช็คยอดเงินชราภาพประกันสังคมของตัวเอง และเช็คสิทธิประกันสังคมอื่นๆ เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิ์ที่เราควรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว แต่ถ้าอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็ยังไม่สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินชราภาพส่วนนี้ได้ แต่ถ้าคุณต้องการใช้เงินด่วน เงินติดล้อมีบริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ เปลี่ยนรถทุกประเภทเป็นเงินก้อนได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องรอเงินชราภาพ ให้คุณมีเงินทันใช้จ่ายฉุกเฉินอย่างแน่นอน