โดนภาษีย้อนหลังไม่มีเงินจ่าย ทำยังไงดี ต้องเสียค่าปรับไหม?

โดนภาษีย้อนหลังไม่มีเงินจ่าย ทำยังไงดี ต้องเสียค่าปรับไหม?
หมายเหตุ
สินเชื่อเพื่อคนมีที่ดินรับเฉพาะโฉนดที่ปลอดภาระจำนองแล้ว 3 ประเภท ดังนี้
น.ส.3ก (ครุฑเขียว)
น.ส.4 (ครุฑแดง)
อ.ช.2 (หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด)
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

ใกล้จะถึงช่วงยื่นภาษีกันแล้ว หลายคนอาจกำลังเตรียมเอกสารและวางแผนการจ่ายภาษี แต่บางคนอาจกำลังกังวลเพราะโดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย หรือเพิ่งได้รับจดหมายแจ้งจากกรมสรรพากรให้ชำระภาษีย้อนหลังบุคคลธรรมดา พร้อมค่าปรับ เงินติดล้อเข้าใจดีว่า การโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังอาจสร้างความกังวลใจ จึงรวบรวมข้อมูลสำคัญและวิธีแก้ปัญหาเมื่อโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมาแนะนำ

การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังคืออะไร

การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง คือ การที่กรมสรรพากรตรวจพบว่า ผู้มีรายได้ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หรือยื่นแบบไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง จึงเรียกเก็บภาษีที่ค้างชำระย้อนหลังพร้อมค่าปรับและเงินเพิ่ม โดยการตรวจสอบดังกล่าวดำเนินการโดย 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร

สรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลังบุคคลธรรมดากี่ปี

สำหรับใครที่สงสัยว่า ต้องเสียภาษีย้อนหลังกี่ปี? ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางสรรพากรตรวจพบว่าเราขาดการเสียภาษีไปกี่ปี ซึ่งโดยปกติแล้ว ทางกรมสรรพากรจะมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังได้ 2 ปี แต่หากพบความผิดปกติ หรือมีเหตุสงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษี สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 5 ปี และในกรณีที่ผู้เสียภาษีเคยยื่นแบบภาษีมาก่อน เช่น พนักงานประจำ สรรพากรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้สูงสุดถึง 10 ปี

การเสียค่าปรับภาษีย้อนหลังมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ค่าปรับภาษีย้อนหลัง

การเสียภาษีย้อนหลังค่าปรับเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าความผิดของคุณจัดอยู่ในกรณีใด โดยจะแบ่งเป็น 4 กรณีหลักๆ ดังนี้

1. ในกรณีที่ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ

  • ต้องเสียเบี้ยปรับ 0.5-1 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ (เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน)

2. ในกรณีที่ไม่ได้ยื่นภาษีภายในกำหนด

  • มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
  • ต้องเสียเบี้ยปรับ 1-2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ (เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน)

3. ในกรณีที่มีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี

  • มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ (เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน)

4. ในกรณีที่หนีภาษี

  • มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท
  • มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี
  • ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ค้างชำระ (เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบจนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วน)

โดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย ควรทำยังไงดี

โดนภาษีย้อนหลัง

เมื่อโดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย อย่าเพิ่งตกใจ หรือละเลยจดหมายแจ้งจากกรมสรรพากร ควรดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ตรวจสอบรายละเอียดภาษีย้อนหลัง และเตรียมเอกสารที่มารายได้ให้ครบ

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อได้รับหนังสือแจ้งจากกรมสรรพากรคือการตรวจสอบรายละเอียดที่มาของรายได้อย่างละเอียด โดยเฉพาะ Statement บัญชีธนาคารย้อนหลังในปีที่ถูกเรียกเก็บภาษี พร้อมรวบรวมหลักฐานการจ่ายภาษีที่เคยชำระไปแล้ว (ถ้ามี) 

นอกจากนี้ควรเตรียมเอกสารการลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) หลักฐานประกันชีวิต เงินบริจาค หรือการซื้อสินค้า OTOP รวมถึงใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เพื่อนำไปชี้แจงและขอลดหย่อนภาษีกับเจ้าหน้าที่สรรพากร

2. หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ให้เช็กว่า มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจ่ายภาษีมาก่อนไหม

หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องตรวจสอบว่าได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนหรือไม่ เพราะหากไม่ได้ดำเนินการ อาจต้องเสียทั้งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังพร้อมค่าปรับ

3. เจรจาของดเว้นเบี้ยปรับ และแบ่งชำระภาษีย้อนหลัง

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้ว ให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ระบุในจดหมายเพื่อขอนัดหมายเจ้าหน้าที่ ในการพบเจ้าหน้าที่ควรเตรียมคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายเหตุผลที่ไม่ได้ยื่นภาษี เช่น ไม่ทราบว่าต้องเสียภาษี เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจ หรือประสบปัญหาทางการเงิน 

พร้อมทั้งเตรียมแผนการผ่อนชำระที่สามารถปฏิบัติได้จริง หลักฐานแสดงความสามารถในการผ่อนชำระ และเอกสารแสดงรายรับ-รายจ่ายปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถขอลด หรือยกเว้นเบี้ยปรับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ทำความผิดเป็นครั้งแรก

4. จ่ายภาษีและค่าปรับย้อนหลังให้ครบ

เมื่อได้ข้อสรุปจากการเจรจากับกรมสรรพากรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการชำระภาษีและค่าปรับตามที่ตกลง ในกรณีที่ได้รับการอนุมัติให้ผ่อนชำระ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เพราะการผิดนัดชำระอาจส่งผลให้ถูกยกเลิกการผ่อนผัน และต้องชำระเงินทั้งหมด พร้อมค่าปรับเพิ่มเติมในทันที

นอกจากนี้ยังควรจัดทำตารางการผ่อนชำระและตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถจัดเตรียมเงินได้ทันตามกำหนด หากพบว่าไม่สามารถชำระได้ตามแผนที่วางไว้ ควรรีบติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรทันทีเพื่อชี้แจงเหตุผลและขอปรับแผนการชำระใหม่ เพราะการสื่อสารที่ดีกับเจ้าหน้าที่จะช่วยให้ได้รับความเห็นใจและความช่วยเหลือมากกว่าการหลีกเลี่ยงการติดต่อ

ไม่อยากโดนภาษีย้อนหลังควรทำยังไงดี

โดนภาษีย้อนหลังควรทำยังไง

การถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ด้วยการเตรียมตัวที่ดีและการจัดการภาษีอย่างเป็นระบบ คุณสามารถป้องกันปัญหานี้ได้ โดยเงินติดล้อมีคำแนะนำในการจัดการภาษีง่ายๆ มาฝาก ลองนำไปปรับใช้ดูได้เลยครับ

  • จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ
    การจัดทำบัญชีอย่างเป็นระเบียบไม่เพียงช่วยให้คุณเห็นภาพรวมทางการเงินที่ชัดเจน แต่ยังทำให้การคำนวณภาษีเป็นเรื่องง่าย แนะนำให้แยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว และใช้แอปพลิเคชันบัญชีที่เชื่อมต่อกับธนาคารเพื่อติดตามธุรกรรมแบบเรียลไทม์
     
  • เก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินไว้อย่างน้อย 5 ปี
    การจัดเก็บเอกสารสำคัญอย่างเป็นระบบเป็นเกราะป้องกันชั้นดีเมื่อถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จ ใบกำกับภาษี หลักฐานการโอนเงิน หรือเอกสารลดหย่อนต่างๆ ควรสแกนเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลและจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการค้นหาเมื่อต้องการ
     
  • ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอย่างเคร่งครัด
    กฎหมายภาษีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ๆ ที่รัฐบาลออกมาสนับสนุน การติดตามข่าวสารและทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะช่วยให้คุณวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่พลาดสิทธิประโยชน์ที่พึงได้
     
  • ยื่นแบบและชำระภาษีตรงตามกำหนดเวลา
    การสร้างวินัยในการยื่นภาษีเป็นสิ่งสำคัญ แนะนำให้จัดทำปฏิทินภาษีส่วนตัวที่ระบุกำหนดการสำคัญ ทั้งการยื่น ภ.ง.ด.90/91 การยื่น ภ.ง.ด.94 และการนำส่ง VAT พร้อมตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาเตรียมเอกสารและเงินสำหรับชำระภาษีได้ทันกำหนด
     
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเมื่อมีข้อสงสัย
    เมื่อเกิดความไม่มั่นใจในประเด็นภาษี การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร นักบัญชี หรือที่ปรึกษาภาษี จะช่วยให้คุณเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิด
     

สรุป โดนภาษีย้อนหลัง คุยกับสรรพากรเพื่อหาทางออกร่วมกันได้

การโดนภาษีย้อนหลัง ไม่มีเงินจ่าย แม้จะเป็นสถานการณ์ที่สร้างความกังวลใจ แต่ยังมีทางออก โดยสามารถเจรจากับสรรพากรเพื่อขอผ่อนผันการชำระและลดหย่อนค่าปรับได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนเพื่อชำระภาษีย้อนหลัง สินเชื่อเพื่อคนมีที่ดินจากเงินติดล้อเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถขอได้ทุกอาชีพ ไม่ต้องใช้สลิปแสดงรายได้ ไม่ต้องใช้คนค้ำ ช่วยให้คุณเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่น่าเชื่อถือ และนำเงินก้อนไปจัดการภาระภาษีให้เรียบร้อยได้

หมายเหตุ
สินเชื่อเพื่อคนมีที่ดินรับเฉพาะโฉนดที่ปลอดภาระจำนองแล้ว 3 ประเภท ดังนี้
น.ส.3ก (ครุฑเขียว)
น.ส.4 (ครุฑแดง)
อ.ช.2 (หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด)
กรุณากรอกชื่อภาษาไทย
กรุณากรอกเฉพาะตัวเลข

การกดยืนยันข้อมูล แสดงว่าคุณอ่านและรับทราบ นโยบายความเป็นส่วนตัว เรียบร้อยแล้ว

เงินติดล้อ

บทความโดย

เงินติดล้อ

ผู้มุ่งหวังให้สังคมไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น