คำสั้นๆได้ใจความ...คำว่า “หนี้” ได้ยินเพียงเบาๆ ก็สะเทือนใจ หลายคนคงอยากจะหนีให้ห่างไกลกับคำนี้ และเมื่อเป็นหนี้แล้วคงไม่มีใครที่อยากกลับไปเป็นหนี้อีกแน่นอน เพราะกว่าที่จะปลดหนี้ได้ ต้องใช้ทั้งกำลังใจ และความพยายามอย่างมาก
ปลดหนี้ว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าก็คือ
ทำอย่างไร ไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีก วันนี้เราขอแนะนำวิธีการที่ไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร ?
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ชี้ถึงแนวทางในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในทางสายกลางและความพอเพียง ซึ่ง “ความพอเพียง” ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น หมายถึง
ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักสำคัญซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ :
ห่วงที่ 1 ความพอประมาณ
ความพอประมาณในความหมายของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น หลักการนี้สามารถนำมาใช้กับการใช้เงินของคุณได้ครับ ถ้าไม่อยากกลับไปเป็นหนี้ก็ควร
ใช้จ่ายให้พอดีกับความต้องการ เช่น ซื้อรถที่พอดีกับการใช้งาน กินแต่พอดี
หรืออาจนำมาใช้ในเรื่องการออมเงินก็ได้ โดยตามหลักการนี้คุณควรที่จะออมพอดี หรือ
ออมแบบทางสายกลาง ไม่มากไป ไม่น้อยไป เพราะถ้าคุณออมน้อยไป เมื่อคุณต้องการใช้เงิน แล้วคุณไม่มีเงินออม คุณก็อาจกลับไปเป็นหนี้อีก หรือถ้าออมมากเกินไป คุณก็จะมีเงินไม่พอใช้ และไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นออมแบบพอดีๆ จะช่วยให้คุณมีเงินเหลือกินเหลือใช้และเหลือเก็บนั่นเอง
ห่วงที่ 2 มีเหตุผล
การตัดสินใจในเรื่องการเงินนั้นต้องตั้งอยู่บนความพอดี และความพอดีนั้นต้องมีเหตุผลด้วย โดยก่อนจะทำอะไรควรมองปัจจัยต่างๆให้รอบด้าน และลองคิดดูว่าการกระทำนั้นจะส่งผลอะไรบ้างในอนาคต เช่น ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ ควรหยุดคิดก่อนว่า เราเป็นหนี้เพราะอะไร มันจำเป็นจริงเหรอ และหนี้จะส่งผลอย่างไรกับเราในอนาคต หรือถ้าเป็นเรื่องการลงทุน ก่อนลงทุนก็ควรวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ควรรีบร้อน เพราะทุกการลงทุนมักมีความเสี่ยง
ดังนั้นแนะนำว่า ก่อนที่จะทำอะไรที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆ อยากให้ใจเย็นๆก่อนนะครับ ลองนั่งคิดทบทวนเหตุผลให้ดีๆ ว่าจะส่งผลยังไงในอนาคต เพราะถ้าคุณมีเหตุผลในการใช้เงินแล้ว โอกาสที่คุณจะกลับไปเป็นหนี้ก็จะไม่มีอีกเลย..
ห่วงที่ 3 ภูมิคุ้มกัน
การมีภูมิคุ้มกัน หมายถึงการเตรียมพร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลง โดยคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการมีภูมิคุ้มกันนั้นจะเป็นเกราะป้องกัน ที่จะทำให้คุณไม่กลับไปเป็นหนี้อีก โดยภูมิคุ้มกันในที่นี้ก็คือ ภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ซึ่งได้แก่ :
นอกจากหลักสำคัญ 3 ห่วงที่กล่าวไปแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังมี
เงื่อนไข ที่ช่วยให้การตัดสินใจ และให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับที่พอเพียง โดยเงื่อนไขมี 2 ประการดังนี้ :
เงื่อนไข ความรู้
ก่อนที่จะทำอะไร ควรมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นให้รอบด้านเสียก่อน เพราะการตัดสินใจด้วย เงื่อนไขความรู้ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
เรื่องการเงินก็เช่นกัน การมีความรู้เรื่องเงินๆทองๆ จะช่วยให้คุณตัดสินใจในเรื่องการเงินไม่ผิดพลาด และไม่โดนคนอื่นมาเอาเปรียบ นอกจากนี้เงื่อนไขความรู้ยังรวมถึงการพัฒนาความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพอีกด้วย เพราะความรู้จะช่วยให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้น และเลี้ยงตัวเองได้
เงื่อนไข คุณธรรม
เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องเสริมสร้าง โดยจะประกอบด้วย การมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต รวมถึงอดออมอยู่เสมอ และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่น การมีเงื่อนไขข้อนี้จะทำให้คุณใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข หลังจากที่ไม่มีหนี้
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยคุณไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าคุณได้นำไปปรับใช้หรือเปล่า และไม่ใช่แค่เรื่องหนี้กับเรื่องการเงินเท่านั้น คุณสามารถนำหลักการนี้ไปใช้กับเรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
หลังจากที่คุณปลดหนี้ได้แล้ว ลองใช้ชีวิตแบบพอเพียงดู แล้วคุณจะพบกับความสุขที่แท้จริง..