การเงินมีปัญหา ! มีภาระที่ต้องใช้เงินด่วน หมุนเงินไม่ทัน จนจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนไม่ไหว หันไปทางไหนก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนไปจ่ายเค้า หลายคนที่มีปัญหานี้ อาจจะหาทางแก้ไม่ถูก พลาดโอกาสกลายเป็นลูกหนี้เสีย เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ
การปรับโครงสร้างหนี้ และจะพาคุณไปหาคำตอบนี้กันครับ..
ปรับโครงสร้างหนี้ คืออะไร ?
การปรับโครงหนี้ คือ การเจรจากับเจ้าหนี้ ในกรณีที่จ่ายไม่ไหว โดยอาจจะมีการทำสัญญาขยายระยะเวลา ลดจำนวนผ่อน หรืออาจลดดอกเบี้ยให้น้อยลงชั่วคราว (เน้นว่าชั่วคราว) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้งสองฝ่าย
สมมุติคุณเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ผ่อนต่อเดือนไม่ไหว คุณอาจไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเพื่อให้ผ่อนน้อยลงได้ เช่น จากที่ผ่อน 10,000 บาท อาจปรับโครงสร้างหนี้เป็นผ่อน 7,000 บาท ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นก็อาจกลับมาผ่อนเหมือนเดิมได้
ก่อนปรับโครงสร้างหนี้ ต้องดูอะไรบ้าง ?
ก่อนทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ควรพิจารณาหลักๆก่อนว่า ดอกเบี้ยไม่ควรมากกว่าเดิม, ต้องผ่อนชำระไหว และควรศึกษาเงื่อนไขให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเกินกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงเพื่อที่คุณจะได้ตัดสินใจว่า ควรปรับโครงสร้างหนี้ดีหรือไม่ ควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย
- เจ้าหนี้มีหลักประกัน หรือเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน
- จำนวนหนี้ของแต่ละเจ้าหนี้
- ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจำนวนหนี้
- ต้องได้รับชำระหนี้มากกว่า การบังคับคดีกับทรัพย์สิน
- เงื่อนไขลูกหนี้ร่วม หรือผู้ค้ำประกัน
หนี้แบบไหน ที่ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากพิจารณาปัจจัยต่างๆก่อนปรับโครงสร้างหนี้แล้ว คุณควรจะต้องดูด้วยว่า
หนี้แบบไหนที่ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ โดยหนี้ที่ไม่ควรปรับนั้น ได้แก่ หนี้ที่เกิดจากการทุจริต, หนี้ของลูกหนี้ที่หมดความสามารถในการชำระหนี้, หนี้ที่เล็งเห็นอยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้หรือกิจการไม่มีโอกาสฟื้นฟูได้ และหนี้ที่ลูกหนี้ตาย แล้วทายาทไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้
ปรับโครงสร้างหนี้ ดีอย่างไร ?
อ่านกันมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้ดูยุ่งยากจัง แต่จริงๆแล้วการปรับโครงสร้างหนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก อันดับแรกเลยก็คือ ทำให้หนี้ไม่กลายเป็นหนี้เสีย และทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายฟ้องร้อง แถมยังเป็นการแก้ปัญหาแบบประนีประนอม และยังเป็นการให้โอกาสลูกหนี้แก้ปัญหาของตัวเองในระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจจะพูดได้ว่า การปรับโครงสร้างหนี้เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้
ข้อเสียของการปรับโครงสร้างหนี้
โดยปกติแล้วเมื่อคุณปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้จะทำการรวมยอดหนี้ทั้งหมด มาบวกกับค่าปรับ ดอกเบี้ย และค่าทวงถามที่ลูกหนี้หยุดจ่ายไป แล้วนำมารวมเป็นยอดใหม่ โดยที่จำนวนหนี้ไม่ได้ลดลงจากเดิมเลย ทำให้เจ้าหนี้ไม่ต้องเสียประโยชน์อะไรเลย
แถมถ้าผิดนัดชำระแม้แต่ครั้งเดียว อาจโดนอายัดทรัพย์ได้ทันที (เพราะถือว่าได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว) เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ต้องการลดยอดหนี้ลง หรือคนที่มีหนี้หลายก้อนก็อาจจะไม่เหมาะกับการปรับโครงสร้างหนี้ครับ ควรใช้การปลดหนี้วิธีอื่นดีกว่า เช่น
คลินิคแก้หนี้ หรือ
การรวมหนี้
สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ
การรวมหนี้ อ่านได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ >>
เผยเคล็ดลับ ! ปลดหนี้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ใครๆก็ทำได้
สำหรับคนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ไหวชั่วคราว การปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นอีกทางเลือกในการปลดหนี้ที่ดี เพราะถือว่าเป็นการช่วยให้ลูกหนี้ตั้งตัว และชำระหนี้ได้ แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ควรทำที่สุดถ้าคุณเป็นหนี้ก็คือ
การใช้หนี้
เพราะฉะนั้นแล้วเป็นหนี้ทั้งที ก็ควรเป็นลูกหนี้ที่ดีกันดีกว่า บริหารค่าใช้จ่ายให้ดี รู้จักวางแผนการเงินให้เหมาะสม จ่ายหนี้ให้ตรงเวลา จะได้ไม่เสียเครดิต และจะได้ปลดหนี้อย่างมีความสุข