หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า
หนี้ครัวเรือน กันบ่อยๆ แต่รู้ความหมายของมันหรือไม่ แปลตามตัวคือหนี้ของแต่ละบ้านหรือเปล่า นอกจากจะเห็นกันตามข่าวเป็นประจำแล้ว หนี้ครัวเรือนก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เพราะเป็นตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร และสามารถบอกนิสัยการใช้เงินของคนในประเทศได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับหนี้ครัวเรือนให้มากยิ่งขึ้น และจะพาไปดูสถิติที่น่าสนใจของหนี้ครัวเรือนในประเทศกัน
หนี้ครัวเรือน คืออะไร ?
หนี้ครัวเรือน หมายถึงหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมของคนที่อยู่ในประเทศนั้น ไม่ว่าจะกู้ไปใช้จ่าย ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือนำไปทำธุรกิจ ก็จะนับรวมเป็นหนี้ครัวเรือนหมด
ถ้าพูดถึงหนี้ครัวเรือนแล้ว ผู้ให้กู้ก็มักจะหมายถึง สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน เช่น ธนาคารพานิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกัน หรือโรงรับจำนำ ซึ่งในจำนวนนี้เราจะไม่รวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย เพราะหนี้ครัวเรือนจะนับเฉพาะข้อมูลจากสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถรวบรวมมาได้เท่านั้น
หนี้ครัวเรือน ดีหรือแย่ ?
การมีหนี้ครัวเรือนไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะการมีหนี้ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะช่วยรักษาระดับการใช้จ่าย และช่วยให้ครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ หรือบ้าน ในขณะที่รายได้ยังไม่มากพอ และยังไม่มีเงินเก็บได้
แต่อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนก็ควรจะมีสัดส่วนที่พอๆกับรายได้ เพราะถ้ามากเกินไปก็อาจมีผลกับการใช้จ่ายของเรา และอาจทำให้ความสามารถในการจ่ายหนี้ของประชาชนลดลง จนกลายเป็น
หนี้เสีย หรือหนี้ที่เกิดจากการผิดนัดชำระได้ ซึ่งถ้าประเทศมีหนี้เสียมากเกินไป จะทำให้เกิดเศรษฐกิจแย่ลง จนกลายเป็นวิกฤตการเงิน เหมือนตอน
วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมา
คนไทยเป็นหนี้กัน มากขึ้น !
จากข้อมูลงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้กันมากขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยหนี้ทุกประเภทต่อหัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.75 แสนบาท ภายในระยะ 10 ปี รวมถึงสัดส่วนจำนวนคนไทยที่เป็นหนี้ก็เพิ่มขึ้น 10% จากเดิม จนทำให้ตอนนี้ประเทศไทยกลายมาเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ! เป็นรองก็แค่ประเทศเกาหลีใต้
คนไทยเป็นหนี้กัน เร็วขึ้น !
นอกจะเป็นหนี้มากขึ้นแล้ว คนไทยก็ยังเป็นหนี้กันเร็วขึ้นอีกด้วย โดยข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า กลุ่มคนในวัยเริ่มทำงานช่วงระหว่าง 25 – 35 ปี เป็นหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิตกว่าครึ่ง ซึ่งคนอายุเท่านี้เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการเป็นหนี้มากที่สุด และเป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 (คนเป็นหนี้ 5 คน จะมีหนี้เสีย 1 คน)
คนไทยเป็นหนี้กัน นานขึ้น !
งานวิจัยยังบอกอีกว่า หนี้สินของคนไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงอายุ 27-30 ปี และยังคงมีหนี้สูงคงที่ตลอดช่วงอายุการทำงาน ส่งผลให้ถึงแม้จะเกษียณแล้ว หลายคนก็ยังคงมีหนี้ติดตัวอยู่
ปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยนั้น เป็นปัญหาที่อยู่กับประเทศของเรามานานมาก ซึ่งสาเหตุก็น่ามาจากนิสัยการใช้เงินของคนไทยนี่แหละ ไหนจะเป็นเรื่องรายได้ที่ไม่ค่อยพอกับรายจ่ายอีก ดังนั้นถ้าไม่อยากให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การลงทุนและออมให้มากขึ้น และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงควรมีการป้องกันความเสี่ยงฉุกเฉิน เช่น การทำประกัน หรือการมีเงินเก็บฉุกเฉิน เพื่อลดโอกาสที่จะก่อหนี้เพิ่มอีกด้วย